พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เป็นท้องพระโรงที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ เมื่อแรกสร้างวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2325 เพื่อใช้สำหรับเสด็จออกขุนนาง และบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เดิมเป็นอาคารโถงไม่มีผนัง สร้างด้วยเครื่องไม้ มีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เดิมแล้วสร้างใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่กว่าเดิม ส่วนหลังคา ยังเป็นเครื่องไม้เลียนแบบมาจากพระที่นั่งองค์เดิม คือมีลักษณะลาดต่ำและมีพาไลรอบเพื่อป้องกันแดดและฝน เนื่องจาก เป็นอาคารโถง
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมชื่อพระจันทร์ เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างเพื่อเป็นที่ประทับแบบชาวตะวันตก ด้วยไม่โปรดที่จะประทับในหมู่พระวิมานอย่างพระมหาอุปราช ในรัชกาลก่อนๆ ลักษณะของพระที่นั่งองค์นี้เป็นตึก 2 ชั้นแบบยุโรป ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นชั้นบนจากภายนอกอาคาร เพราะ ถือตามคติไทยโบราณว่า การทำทางขึ้นจากชั้นล่างภายในอาคารเป็นอัปมงคล ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นที่พักอาศัยของบรรดา มหาดเล็กพนักงาน โดยใช้ชั้นบนเป็นที่ประทับ ซึ่งแบ่งเป็นห้องต่างๆ 5 ห้อง ประกอบด้วย ห้องทรงพระอักษร ห้องรับแขก ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องแต่งพระองค์
อาคารมหาสุรสิงหนาท
เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อปรับปรุงขยายงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น สร้างพร้อมกัน 2 หลัง อาคารหลังทิศใต้เรียกว่า “อาคารมหาสุรสิงหนาท” ตั้งนามเป็นเฉลิมพระเกียรติยศแด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์แรก ผู้สถาปนาพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325
ราชรถ หมายถึง รถหลวงหรือรถของพระราชาในที่นี้หมายถึง รถลากมีรูปลักษณะคล้ายเกวียน หรือพัฒนารูปแบบจากเกวียนมีการตกแต่งให้วิจิตรงดงาม และอาจมีขนาดสูงใหญ่มากขึ้น มีทั้งที่มีเครื่องหลังคาและไม่มีเครื่องหลังคา
ราชรถแบบไม่มีเครื่องหลังคาเรียกราชรถโถง คือราชรถโล่งนั่นเอง เช่น ราชรถในภาพลายรดน้ำผนังตู้ ในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์เป็นลักษณะงานช่างสมัยรัชกาลที่ 1
เก๋งนุกิจราชบริหาร
เป็นเก๋งจีนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างในกลุ่มของพระที่นั่งบวรปริวัตร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับแบบจีน แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนจะแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงดำเนินการต่อจนเสร็จสมบูรณ์และทรงใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จมาค้างแรมในวังหน้า ต่อมาใน พ.ศ. 2477 พระที่นั่งบวรปริวัตรได้ใช้เป็นโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ ส่วนเก๋งนุกิจราชบริหารใช้เป็นที่พักอาจารย์ จนเมื่อปี พ.ศ. 2505 กรมศิลปากรได้รื้อพระที่นั่งบวรปริวัตรลงเนื่องจากชำรุดจนยากแก่การปฏิสังขรณ์ เหลือเพียงเก๋งนุกิจราชบริหาร
ภายในเก๋งนุกิจราชบริหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพงศาวดารจีนเรื่อง ห้องสิน และจัดแสดงเครื่องเรือนแบบจีน ตามลักษณะการใช้งานเดิม
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้าง เดิมเข้าใจว่าทรงดำริให้สร้างขึ้นสำหรับประกอบการพระราชพิธีต่างๆ เช่นเดียวกับ พระมหาปราสาทในวังหลวง แต่ในเวลาที่ยังไม่ได้ลงมือสร้างหรือกำลังสร้างอยู่นั้น ในปี พ.ศ. 2338 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จนำทัพไปขับไล่พม่าที่ยกมาตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่มีชัยชนะ