พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมชื่อพระจันทร์ เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างเพื่อเป็นที่ประทับแบบชาวตะวันตก ด้วยไม่โปรดที่จะประทับในหมู่พระวิมานอย่างพระมหาอุปราช ในรัชกาลก่อนๆ ลักษณะของพระที่นั่งองค์นี้เป็นตึก 2 ชั้นแบบยุโรป ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นชั้นบนจากภายนอกอาคาร เพราะ ถือตามคติไทยโบราณว่า การทำทางขึ้นจากชั้นล่างภายในอาคารเป็นอัปมงคล ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นที่พักอาศัยของบรรดา มหาดเล็กพนักงาน โดยใช้ชั้นบนเป็นที่ประทับ ซึ่งแบ่งเป็นห้องต่างๆ 5 ห้อง ประกอบด้วย ห้องทรงพระอักษร ห้องรับแขก ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องแต่งพระองค์
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับมาตลอด จนสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2408 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องเสวยตรงกลางเป็นห้องประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนนามพระที่นั่ง เป็น “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” จนถึงรัชกาลที่ 6 จึงได้อัญเชิญพระบรมอัฐิ ไปประดิษฐาน ณ หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2460 พระที่นั่งองค์นี้ได้ใช้เป็นโรงเรียนศิลปากรแผนกนาฏดุริยางค์ ปัจจุบันชั้นบนของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ จัดแสดง เครื่องเรือนแบบยุโรป ตามลักษณะการใช้งานพระที่นั่งองค์นี้มาแต่เดิม ส่วนชั้นล่างเป็นห้องนิทรรศการพระราชประวัติ และกิจกรรม
พระบวรราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว The Biography of H.M. King Pinklao
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี หรืออีกพระนามคือเจ้าฟ้าน้อย ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี และเป็นพระอนุชาธิราชร่วมครรโภทรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พุทธศักราช 2351เวลา 5 นาฬิกา ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษาได้ 13 เดือน ในปีพุทธศักราช 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ตามเสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวัง กับพระราชบิดา
เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ 16 พรรษา ได้ทรงรับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงปฏิบัติราชการ โดยมีความดีความชอบเรื่อยมา จนเมื่อพระชนมพรรษาได้ ๒๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2375
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจจานุกิจทางด้านการทหารหลาก หลายด้านด้วยกันเช่น ด้านการทหารเรือ ทหารบก ทรงกำกับกรมทหารปืนใหญ่ กองอาสาญวณ นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพ ทั้งด้านการทรงพระอักษรและพระนิพนธ์ภาษาอังกฤษ จนเป็นที่ไว้วาง พระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญากับชาวต่างชาติ
ครั้นเมื่อถึงปีพุทธศักราช 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเชษฐาได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบวรราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2394 เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงรับพระบวรราชโองการมีพระเกียรติยศเสมอเท่าพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ อันเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย ทั้งยังทรงเป็นพระอนุชาอันเป็นที่รักยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านสรรพาวุธและการสงคราม โดยเฉพาะมีความรู้ความชำนาญในวิทยาการสมัยใหม่ทางวิชาการทหารแบบยุโรป ตลอดจนทรงรอบรู้เกี่ยวการภายในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจากทางตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงมีพระราชดำริพระราชทานบวรราชาภิเษกแด่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มีพระเกียรติยศยศสูงกว่าวังหน้าพระองค์อื่นๆ ที่ได้เคยปรากฏมา
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดา รวมกันทั้งสิ้น 58 พระองค์ โดยมีพระราชโอรส ๒๙ พระองค์ และพระราชธิดา 29 พระองค์ ต่อมาภายหลังจากปีพุทธศักราช 2404 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีพระอาการประชวรเรื่อยมา ครั้นเมื่อถึงวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พุทธศักราช 2408 เวลา 3 โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพระบวรราชวัง สิริพระชนมพรรษาได้ 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติสิริรวม 15 พรรษา