พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 5 เรื่อง
|
|
ส่วนจัดแสดงที่ 1 ธรรมชาติวิทยา
|
|
จัดแสดงเรื่องกายภาพของจังหวัดสุรินทร์ เนื้อเรื่องประกอบด้วย สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เช่น แร่ธาตุ ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงเรื่องข้าว เนื่องจากพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีแห่งหนึ่ง
|
ส่วนจัดแสดงที่ 2 ประวัติศาสตร์โบราณคดี
|
|
มีเนื้อหาเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้คนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบหลักฐานในจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,000 - 1,500 ปีมาแล้ว สมัยวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งเริ่มประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 สมัยวัฒนธรรมเขมรมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 18 จนถึงสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 24 การจัดแสดงเป็นการจำลองสภาพชีวิตและพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่ 2 ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุสมัยทวารวดี เขมร ที่พบในจังหวัดสุรินทร์ หุ่นจำลองโบราณสถาน เป็นต้น
|
ส่วนจัดแสดงที่ 3 ประวัติศาสตร์เมือง
|
|
เนื้อหาในส่วนนี้นำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ โดยเริ่มจากชาวกูยช่วยจับช้างเผือกส่งกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา และได้รับความดีความชอบตั้งเป็นบ้านเมือง การปฏิรูปการปกครองมาเป็นระบบเทศาภิบาลและระบอบประชาธิปไตยตามลำดับนอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชากร และการศึกษาในการจัดแสดงได้จำลองภาพเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ เช่น การจับช้างเผือก การเดินรถไฟมาถึงสุรินทร์ สภาพตลาดการค้าในยุคแรกๆ สภาพการศึกษาในอดีต เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ในอดีตมาจนถึงจังหวัดสุรินทร์ปัจจุบันได้อย่างชัดเจนขึ้น
|
ส่วนจัดแสดงที่ 4 ชาติพันธุ์วิทยา
|
|
จะกล่าวถึงประชากรในจังหวัดสุรินทร์ที่ประกอบด้วยชน 3 กลุ่มใหญ่ คือ ชาวกูย กลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับและฝึกช้าง ชาวเขมรกลุ่มดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยในจังหวัดสุรินทร์มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 เป็นอย่างช้า และชาวลาวกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 22 ในการจัดแสดงได้จำลองให้เห็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ โดยการจำลองบ้านเรือน หุ่นจำลองการประกอบพิธีกรรมของชาวไทยกูย ไทยเขมร ภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับขนบประเพณีและสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยลาวซึ่งจะสื่อถึงสภาพวิถีชีวิต ลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนที่ประกอบกันเป็นคนสุรินทร์ในปัจจุบัน
|
ส่วนจัดแสดงที่ 5 มรดกดีเด่น
|
|
เนื้อหาจะกล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ งานศิลปกรรม ได้แก่ การทำเครื่องประดับเงิน และการทอผ้าไหม ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดงเรือม (การรำ) การละเล่นเจรียง รวมถึงดนตรีพื้นบ้าน เช่น วงกันตรึม วงมโหรี และการเลี้ยงช้างซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ในส่วนการจัดแสดงจะใช้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หุ่นจำลอง ภาพถ่าย วีดีทัศน์ และเครื่องเล่นแผ่นเสียง เป็นสื่อให้เห็นถึงการแสดงพื้นบ้าน การผลิตและใช้ประโยชน์จากงานหัตถกรรม มีหุ่นจำลองและวีดีทัศน์เรื่องการจัดแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ฉากจำลองบรรยากาศหมู่บ้านช้างให้ผู้ชมได้ทราบถึงมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์ที่มีมาตั้งแต่อดีตและยังคงดำรงอยู่กระทั่งปัจจุบัน |
|