พระพุทธรูปปางสมาธิ (สรณังกร)
- ชื่อโบราณวัตถุ :
- พระพุทธรูปปางสมาธิ (สรณังกร)
- แบบศิลปะ :
- ศิลปะอยุธยา
- ชนิด :
- สำริด
- ขนาด :
- สูงพร้อมฐาน 20 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 9 เซนติเมตร
- อายุสมัย :
- พุทธศตวรรษที่ 21
- ลักษณะ :
- พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเหลือบลงต่ำ ปลายพระเนตรตวัดขึ้นเล็กน้อย พระนาสิกค่อนข้างยาวและโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์ค่อนข้างบาง ริมฝีพระโอษฐ์บนจีบพองาม พระกรรณยาว ปลายพระกรรณงอนออกเล็กน้อย ส่วนพระเศียรมีขมวดพระเกศาค่อนข้างเล็ก พระอุษณีษะเป็นต่อมนูนขนาดใหญ่ พระรัศมีรูปกรวยทรงสูง ระหว่างอุษณีษะกับรัศมีปรากฏเส้นวงแหวนคั่นกลาง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปที่พบในสกุลช่างกำแพงเพชร (พัชรินทร์ ศุขประมูล 2549: 38) ส่วนพระศอมีรอยต่อที่เกิดจากการซ่อม องค์พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฏิขนาดค่อนข้างใหญ่พาดอยู่บนพระอังสาซ้ายได้ยาวตกลงมาถึงพระนาภี มีส่วนปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ทั้งสองวางประสานกันอยู่เหนือพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานอาสนะสามขา ซึ่งก็คือ ฐานสิงห์ ส่วนฐานด้านหลังได้มีการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ฐานด้านหน้ามีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี จำนวน 1 บรรทัด
ความว่า สรณงฺกโร นาม ภควา (อ่านว่า สะระณังกะโร นามะ ภะคะวา) แปลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่า สรณังกร (พายัพ บุญมาก 2514: 43) อย่างไร ก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (นายเทิม มีเต็ม) ได้แปลจารึกนี้ไว้ว่า ภควา (พระพุทธรูป) องค์นี้ พระนามว่า “พระสรณังกร” โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สรณงฺกโร คือ นามของอดีตพระพุทธเจ้า ในจำนวน ๒๘ พระองค์ ซึ่งปรากฏอยู่ใน อาฏานาติยปริตร ส่วนคำว่า ภควา ได้แปลความหมายว่า พระพุทธรูปนี้ ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปในสมัยโบราณ ผู้สร้างบางท่านมีเจตนาที่สร้างถวายเป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้าทั้งใน ปัจจุบันและอดีต สำหรับพระพุทธรูปองค์นี้ได้สร้างถวายแด่อดีตพระพุทธเจ้าที่มีนามว่า พระสรณังกร (อ้างจากหนังสือสำนักหอสมุดแห่งชาติ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ที่ วธ 0408/2232 วันที่ 24 สิงหาคม 2554 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญอ่านอักษรจารึกที่ฐานพระพุทธรูป) - ประวัติ :
- ได้จากวัดพระแก้ว กลางเมืองกำแพงเพชรเก่า
- สถานที่จัดแสดง :
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
- คิวอาร์โค้ด สำหรับเข้าถึงระบบฐานข้อมูล :
(ท่านสามารถโหลดและนำไปใช้เพื่อการทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่อได้)