พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองเก่ากำแพงเพชร ระหว่างโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมกับพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ(เรือนไทย) ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร กรมศิลปากรจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีเพื่อเก็บรวบรวม สงวนรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรมท้องถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2510 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2514 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นเป็นผู้แทนพระองค์
เมื่อ แรกสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร มีอาคารทรงไทยประยุกต์สองชั้น ก่ออิฐถือปูนเพียงหลังเดียว ต่อมาได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 3 หลัง โดยมีทางเชื่อมระหว่างอาคาร แต่ละหลังโดยรอบ ใน พ.ศ. 2552 ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรในส่วนครึ่งแรกและได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2556 เพื่อทำการปรับปรุงนิทรรศการในส่วนครึ่งหลัง
|
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ในสมัยแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ.2514 |
งบประมาณ 2552-2556 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในอาคาร ทุกหลัง ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกำแพงเพชรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและเน้นสื่อจัดแสดงให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นได้แก่ วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์สัมผัสหน้าจอ หุ่นจำลอง ฯลฯ นอกเหนือจากการจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาสำหรับผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัยทุกระดับการศึกษารวมทั้งเป็นหน่วยงานสำคัญซึ่งทำหน้าที่อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และของชาติให้คงอยู่สืบไป
|
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ในปัจจุบัน |
สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2534 |
สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการจัด แสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และทรงนำนักเรียนโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า ทัศนศึกษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร |
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร มีอาคารจัดแสดงรวมทั้งหมด 4 หลัง อาคารแต่ละหลังมีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและความต่อเนื่องในการเข้าชมพิพิธภัณฑสถาน ภายในตัวอาคารดังกล่าวแบ่งส่วนจัดแสดง ดังนี้
ส่วนที่ 1 โถงต้อนรับ ส่วนประชาสัมพันธ์ ที่จำหน่ายบัตรผู้เข้าชมและสินค้าที่ระลึก ในส่วนนี้ผู้เข้าชมสามารถรับฟังข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดกำแพงเพชรได้ในรูปแบบของสื่อมัลติมีเดีย
ส่วนที่ 2 ห้องประชุมสำหรับการจัดประชุมสัมมนา และเป็นห้องบรรยายสรุปสำหรับผู้ที่เข้ามาชมเป็นหมู่คณะ
ส่วนที่ 3 จัดแสดงเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยสุโขทัย โบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ เครื่องมือหินขัด ชิ้นส่วนตะเกียงดินเผาแบบโรมัน ลูกปัดแก้วและหิน เครื่องมือเครื่องใช้โลหะ แม่พิมพ์ดินเผาสมัยลพบุรี เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย และพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยสกุลช่างกำแพงเพชร
ส่วนที่ 4 จัดแสดงเรื่องกำแพงเพชรสมัยอยุธยา ถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนจัดแสดงนี้มีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มเทวรูปในศาสนาฮินดูที่พบจากศาลพระอิศวร พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา ประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นที่เคยใช้ประดับศาสนสถานสมัยอยุธยาซึ่งได้จากบริเวณเมืองกำแพงเพชร และการจัดแสดงเรื่องเสด็จประพาสต้นของพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อ พ.ศ. 2449
ส่วนที่ 5 จัดแสดงเรื่องกำแพงเพชรในปัจจุบัน นำเสนอวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบัน และชนกลุ่มน้อยในจังหวัดกำแพงเพชร ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งภาพถ่าย คอมพิวเตอร์สัมผัสหน้าจอ และหุ่นจำลอง
ส่วนที่ 6 เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการพิเศษหรือนิทรรศการหมุนเวียน และส่วนห้องสมุด
พระพุทธรูปปางสมาธิ
เลขทะเบียน 16/330/2513
สำริด ขนาด สูงพร้อมฐาน 20 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 9 เซนติเมตร
ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21
ได้จากวัดพระแก้ว กลางเมืองกำแพงเพชรเก่า
พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเหลือบลงต่ำ ปลายพระเนตรตวัดขึ้นเล็กน้อย พระนาสิกค่อนข้างยาวและโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์ค่อนข้างบาง ริมฝีพระโอษฐ์บนจีบพองาม พระกรรณยาว ปลายพระกรรณงอนออกเล็กน้อย ส่วนพระเศียรมีขมวดพระเกศาค่อนข้างเล็กพระอุษณีษะเป็นต่อมนูนขนาดใหญ่ พระรัศมีรูปกรวยทรงสูง ระหว่างอุษณีษะกับรัศมีปรากฏเส้นวงแหวนคั่นกลาง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปที่พบในสกุลช่างกำแพงเพชร (พัชรินทร์ ศุขประมูล 2549:38) ส่วนพระศอมีรอยต่อที่เกิดจากการซ่อม องค์พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฏิขนาดค่อนข้างใหญ่พาดอยู่บนพระอังสาซ้ายได้ยาวตกลงมาถึงพระนาภีมีส่วนปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ทั้งสองวางประสานกันอยู่เหนือพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานอาสนะสามขา ซึ่งก็คือ ฐานสิงห์ ส่วนฐานด้านหลังได้มีการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ฐานด้านหน้ามีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี จำนวน 1 บรรทัด ความว่า
สรณงฺกโร นาม ภควา (อ่านว่า สะระณังกะโร นามะ ภะคะวา)
แปลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่า สรณังกร (พายัพ บุญมาก 2514 : 43)
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (นายเทิม มีเต็ม) ได้แปลจารึกนี้ไว้ว่า ภควา (พระพุทธรูป) องค์นี้
พระนามว่า “พระสรณังกร” โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สรณงฺกโร คือ นามของอดีตพระพุทธเจ้า ในจำนวน 28 พระองค์
ซึ่งปรากฏอยู่ใน อาฏานาติยปริตร ส่วนคำว่า ภควา ได้แปลความหมายว่า พระพุทธรูปนี้ ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปในสมัยโบราณ ผู้สร้างบางท่านมีเจตนาที่สร้างถวายเป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้าทั้งในปัจจุบันและอดีต สำหรับพระพุทธรูปองค์นี้ได้สร้างถวายแด่อดีตพระพุทธเจ้าที่มีนามว่า พระสรณังกร (อ้างจากหนังสือสำนักหอสมุดแห่งชาติ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ที่ วธ 0408/2232 วันที่ 24 สิงหาคม 2554 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญอ่านอักษรจารึกที่ฐานพระพุทธรูป)
จารึกที่ฐานพระพุทธรูปสำริด อักษรขอม ภาษาบาลี ได้จากวัดพระแก้ว กลางเมืองกำแพงเพชรเก่า