พิมพ์

หน่วยงาน

เขียนโดย admin on . Posted in About us

 

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันสังกัดสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม แบ่งการทำงานเป็น 4 ฝ่าย ควบคุมดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในส่วนกลางจำนวน 2 แห่ง และมีหน่วยงานสนับสนุน 1 หน่วยงาน คือ แผนผังการบริหารและหน่วยงานต่างๆของพิพิธภัณฑสานแห่งชาติ พระนคร  

หน่วยงาน  
 
    1. ฝ่ายวิชาการ มีหน้าที่ รวบรวม จำแนกแยกแยะ จัดทำทะเบียนบันทึกหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พิพิธภัณฑสถานเก็บรวบรวมได้ ตลอดจนศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์ วิจัย เนื้อหาเรื่องราวของวัตถุ กำหนดเนื้อหาแนวทางการจัดแสดง ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการ รวมทั้งเสนอผลงานการศึกษาค้นคว้าในรูปแบบต่างๆเช่น บทความ การบรรยาย เป็นต้น ติดต่อสอบถาม โทร. 02-224-1402

 2. ฝ่ายบริการการศึกษามีหน้าที่จัดการการศึกษาเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่จัดแสดง เช่น การจัดการ อบรม การประชุม การ สัมมนา การบรรยาย การจัดห้องเรียน ห้องค้นคว้า การจัด นิทรรศการ การผลิตสื่อและเครื่องมือในการศึกษา การให้บริการการศึกษา เช่น การนำชม การบริการยืมสื่อการศึกษา การให้บริการห้องสมุด รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ติดต่อสอบถาม โทร 02-224-1333, 02-221-1842 โทรสาร 02-224-1404

        3. ฝ่ายเทคนิคและศิลปกรรม มีหน้าที่ออกแบบและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อาทิ การจัดทำป้ายวัตถุ ตู้ ชั้นแท่นฐาน ระบบไฟในการจัดนิทรรศการ รวมทั้งงานทางด้านเทคนิคและศิลปกรรมอื่นๆ สำหรับพิพิธภัณฑสถาน อาทิ การจัดแต่งภูมิทัศน์ การประปา การไฟฟ้า การโยธา เป็นต้น ติดต่อสอบถาม โทร. 02-224-4691

    4. ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีหน้าที่เกี่ยวกับงานสารบรรณ ธุรการ การเงิน บุคลากร รวมทั้งควบคุมดูแลการรักษาความปลอดภัย ภายในพิพิธภัณฑสถาน ติดต่อสอบถาม โทร. 02-224-1370 โทรสาร 02-224-7493

  

org
แผนผังการบริหารและหน่วยงานต่างๆของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

    5. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ตั้งอยู่ที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุเกี่ยวกับช้างสำคัญ และช้างมงคลของไทย ติดต่อสอบถาม พิพิธภัณฑสถาน ช้างต้น ติดกับรัฐสภา ถนนอู่ทองใน แขวงจิตรลดา กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02-282-3336

    6. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือราชพิธี ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางกอกน้อย จัดแสดง เรือราชพิธีและวัตถุที่เกี่ยวเนื่อง โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นชิ้นสำคัญ เช่น เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นต้น ติดต่อสอบถาม โทร. 02-242-0004

    นอกจากนี้ยังมี กลุ่มอาสาสมัครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (NATIONAL MUSEUM VOLUNTEERS)ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีชาวต่างชาติที่พำนักในเมืองไทย เป็นหน่วยสนับสนุนกิจการของพิพิธภัณฑสถานโดยร่วมจัดกิจกรรมทางการศีกษาเกี่ยวกับโบราณวัตถุศิลปวัตถุสำหรับชาวต่างประเทศ เช่น การนำชมเป็นภาษาต่างๆ 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น การจัดการบรรยาย ทัศนศึกษา การจัดทำสิ่งพิมพ์ การแปลและการแก้ไขคำบรรยาย 3 ภาษาต่างประเทศ การบริการห้องสมุด ให้บริการยืมสไลด์และวีดีทัศน์ ติดต่อสอบถาม ประธานกลุ่ม (ประจำปี พ.ศ. 2544) โทร.02-587-1880 หรือตู้ปณ. นานา กรุงเทพฯ 10112

   

พิมพ์

ประวัติความเป็นมา

เขียนโดย admin on . Posted in About us

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งตั้งขี้นเมื่อ พ.ศ.2402 แต่เดิมเป็น "พระราชวังบวรสถานมงคล" หรือวังหน้าซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักอันนับเป็นสถาปัตยกรรมไทย ที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง

history1ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการต่างๆ นับว่าเป็นบ่อเกิดของพิพิธภัณฑ์ในสมัยต่อมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "มิวเซียม" ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือหอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 21 พรรษา เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2417 ครั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ.2430 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทิวงคต จึงได้มีประกาศยกเลิกตำแหน่งพระอุปราชแล้ว  ทำให้สถานที่ในพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดีย ไปตั้งจัดแสดงที่พระราชวังบวรสถานมงคลเฉพาะด้านหน้า 3 องค์ โดยใช้พระที่นั่งด้านหน้าคือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า "พิพิธภัณฑ์วังหน้า"

ต่อมาในปี พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมดให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับ พระนครขึ้น และได้จัด พระที่นั่งศิวโมกขพิมานให้เป็นสถานที่จัดแสดง ศิลาจารึก  คัมภีร์  ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณ เรียกว่าหอสมุดวชิรญาณ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2469 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ต่อมาประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ.2476 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จึงได้เข้าสังกัดกับกรมศิลปากร และได้ประกาศตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.2477

พิมพ์

การบริการ

เขียนโดย admin on . Posted in About us

บริการฝ่ายบริการการศึกษา
บริการนำชมเป็นหมู่คณะ โดยการนัดหมาย
บริการสื่อโสตทัศนศึกษา โดยการนัดหมาย
บริการให้ยืมนิทรรศการหมุนเวียน โดยการนัดหมาย
บริการให้ยืมภาพถ่าย โดยการนัดหมาย
บริการห้องสมุด วันเสาร์ - อาทิตย์ หรือโดยการนัดหมาย

บริการนำชมภาษาต่างประเทศ โดยกลุ่มสตรีอาสาสมัคร

ภาษาอังกฤษ       นำชมเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะไทยและพระพุทธศาสนา
                      ทุกวันพุธ และพฤหัสบดี เวลา 9.30 น.
ภาษาฝรั่งเศส      นำชมเรื่องศิลปะก่อนไทยและศิลปะไทย
                      ทุกวันพุธ และพฤหัสบดี เวลา 9.30 น.
ภาษาเยอรมัน      นำชมเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมไทย
                      ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 9.30 น.
ภาษาญี่ปุ่น         นำชมเรื่องวัฒนธรรมไทย, เครื่องถ้วย และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
                      ทุกวันพุธ สัปดาห์ที่ 1 และ 2 ของเดือน เวลา 9.30 น.
                      นำชมเรื่องศิลปะก่อนไทยและศิลปะไทย
                      ทุกวันพุธ สัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือน เวลา 9.30 น.

อัตราค่าเข้าชม   คนไทย 30 บาท   ชาวต่างประเทศ 200 บาท

** บัตรรวมสามารถเข้าชม  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์
 เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆ

ติดต่อ
ถ.หน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ : 02-224-1370 โทรสาร : 02-224-9911
ฝ่ายบริการการศึกษา : 02-224-1333 โทรสาร : 02-224-1404
ฝ่ายวิชาการ : 02-224-1402 โทรสาร : 02-224-1402

เวลาทำการ 09.00 - 16.00น.
ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การเดินทาง
• รถประจำทาง : 3  6  9  15  19  30  32  33  39  43  47  53  59  60  65  70  80  82  91  123  201  203
• รถปรับอากาศ : 1  8  25  506  507  512 สาย38  39  82
• ท่าเรือ : เรือด่วนเจ้าพระยาลงที่ ท่าช้าง