ปัจจุบันการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี มุ่งเน้นการจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของท้องถิ่นเป็นหลักทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยาเป็นสำคัญ
|
แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ คือ
|
ส่วนที่ 1 ภายในอาคารจัดแสดง
|
โดยแบ่งหัวข้อจัดแสดงออกเป็น 10 ห้องจัดแสดง ได้แก่ ห้องข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี ห้องภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรณีวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ห้องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ห้องสมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรกวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเจนละ ห้องวัฒนธรรมขอมสมัยเมืองพระนคร ห้องวัฒนธรรมไทย - ลาว ห้องผ้าโบราณและผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี ห้องดนตรีพื้นเมือง ห้องหัตถกรรมพื้นบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือนและห้องการปกครองและงานประณีตศิลป์เนื่องในพระพุทธศาสนา
|
ส่วนที่ 2 จัดแสดงภายนอกอาคารจัดแสดง
|
|
ที่เป็นอาคารโถง ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุขนาดใหญ่ที่เคยจัดแสดงกลางแจ้ง ได้แก่ เรือมาด รถไถเกษตรและ ใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ โบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนโบราณในบริเวณภาคอีสานตอนล่าง โบราณวัตถุสำคัญที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ได้แก่ โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านก้านเหลือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี, กลองมโหระทึกจาก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี, อรรถนารีศวร จารึกพระเจ้าจิตรเสน จาก อำเภอสิรินธร และ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี, เสาประดับประตูจากโบราณสถานร้างแก่งตอย อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี, ใบเสมาและพระพุทธรูปหินทรายสมัยทวารดี จาก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และ จาก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ, สิงห์หินทราย จาก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร, พระคเณศ จาก อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี, พระพุทธรูปศิลปะ ล้านช้าง จาก อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี, หน้าบันไม้แกะสลัก จากวัดพระโรจน์ อำเภอมืองสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี, ผ้าพื้นเมืองจาก จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง, ธรรมาสน์ทรงปราสาท จาก อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ และคันทวย จากวัดนามึน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งล้วนแสดงถึงพัฒนาการของชุมชนโบราณในบริเวณภาคอีสานตอนล่างในแต่ละสมัยที่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยต่อเนื่อง เรื่อยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน
|
สมัยประวัติศาสตร์
|
|
ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อิทธิพลของวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์จากอาณาจักรทวารวดี ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลางของประเทศไทยและอาณาจักร เจนละ (อาณาจักรเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร) ในบริเวณที่ราบลุ่มริมทะเลสาบเขมรและลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้เริ่มส่ง อิทธิพลเข้ามายังภาคอีสานตอนล่างรวมทั้งเขตจังหวัดอุบลราชธานี
|
วัฒนธรรมเจนละหรือวัฒนธรรมเขมรสมัยก่อนพระนคร (ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13) ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 11 พระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงพระนามว่า ศรุตวรมันและเศรษฐวรมัน ราชโอรสได้ก่อตั้งอาณาจักรแรกของเขมรขึ้น ซึ่งจีนเรียกว่า “เจนละ” และแยกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรฟูนัน ต่อมาพระเจ้าภาวรมันและพระอนุชาต่างมารดาหรือพี่ลูกน้องของพระองค์ คือ เจ้าชายจิตรเสน (พระเจ้ามเหนทรวรมัน) ทรงรุกรานอาณาจักรฟูนันและสามารถยึดครองได้โดยเด็ดขาดในรัชกาลของพระเจ้าอีศานวรมันเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 |
อำนาจของอาณาจักรเจนละเริ่มแผ่ขยายเข้ามายังเขตที่ราบสูงภาคอีสานตอนล่างบริเวณแม่น้ำมูลและชี ไปจนถึงแถบเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทางตอนเหนือของที่ราบภาคกลางในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ปรากฏจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันรวม 4 หลัก ที่บริเวณเนินดินและโบราณสถานร้างภายในเพิงถ้ำปราสาทหรือถ้ำภูหมาในทางฝั่งขวาใกล้ปากแม่น้ำมูล ในเขตอำเภอโขงเจียม ตัวอักษรที่ใช้จารึกเป็นตัวอักษรแบบปัลลวะภาษาสันสกฤตข้อความคล้ายคลึง กัน กล่าวว่า “พระเจ้าจิตรเสน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงได้ชัยชนะเหนือกัมพูชาประเทศและได้เฉลิมพระนามว่า “ศรีมเหนทรวรมัน” โปรดให้สร้างศิวลึงค์และรูปโคอสุภะเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะไว้ ณ ที่นี้” |
หลักฐานดังกล่าวนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์รุ่นแรกสุดที่พบและแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณแถบนี้กับอาณาจักรเจนละทั้งทางด้านการปกครองและการศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ |
โบราณวัตถุ โบราณสถานที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมเจนละเท่าที่พบ ได้แก่ ทับหลังสลักรูปมังกรหันเข้าหาลายวงโค้งที่วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปะเขมรแบบถาลาบริวัติ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งอาจเคลื่อนย้ายมาจากถ้ำปราสาท อำเภอโขงเจียม ทับหลังและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ศิลปะเขมรแบบไพรกเมง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหารและที่โบราณสถานร้างวัดแก่งตอย บ้านโอด ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี |
โบราณวัตถุและโบราณสถานที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมเจนละมีจำนวนน้อย เพราะศาสนาพราหมณ์อาจเป็นที่ยอมรับนับถือกันเฉพาะในกลุ่มชนชั้นปกครองเท่านั้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่นับถือพระพุทธศาสนา อิทธิพลของวัฒนธรรมเจนละคงสิ้นสุดลงภายหลังอาณาจักรเจนละเกิดจลาจลแยกออกเป็น 2 แคว้น คือ เจนละบกและเจนละน้ำ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 13 |
วัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 13 - 15) อิทธิพลของทวารวดีซึ่งมีพื้นฐานสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาที่รับมาจากอินเดียใน ภาคกลางของประเทศไทยได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามายังภาคอีสานตอนล่าง ผ่านลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนมายังที่ราบลุ่มแม่น้ำชีตอนล่าง ลำเซบายและลำเซบก อันเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณสังคมเมืองระยะต้นทางตอนเหนือของจังหวัดอุบลราชธานีและได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนอย่างแพร่หลายดังปรากฏหลักฐานทั้งที่เป็นโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปยืนปางประทานธรรมและพระพุทธรูปปางสมาธิสลักจากศิลา แหล่งโบราณสถานที่เป็นเนินดินที่มีใบเสมาปักอยู่เป็นกลุ่มบางแห่งสลักภาพสัญลักษณ์เนื่องในพระพุทธศาสนา เช่น หม้อน้ำ (ปูรณฆฎะ) สถูปจำลองหรือธรรมจักรภายในกรอบดอกไม้วงกลมตั้งอยู่บนเสา สลักไว้ตรงกลางแกนใบเสมา แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างคติทางพุทธศาสนากับความเชื่อของคนในสังคมดั้งเดิมก่อนการนับถือพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี |
แหล่งชุมชนที่พบโบราณวัตถุและโบราณสถาน อิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีกระจายอยู่เฉพาะฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูลทางด้านเหนือตัวจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่ปากแม่น้ำชีทางด้านตะวันตกไปยังเซบายและลำเซบกทางด้าน ทิศตะวันออก อาทิ ชุมชนโบราณบ้านทุ่งใหญ่ บ้านชีทวน ดงปู่ตา บ้านสร้างก่อ ขุมหิน บ้านศรีบัว อำเภอเขื่องในโพนเมือง บ้านกุดซวย เมืองงิ้วบ้านชาด อำเภอหัวตะพาน บ้านไผ่ใหญ่ บ้านโพนเมืองมะทันและเนินดินหลังตลาดบ้านม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น |
อิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดีในบริเวณเหล่านี้คงสิ้นสุดลงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 หรือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16 |
วัฒนธรรมเขมรสมัยเมืองก่อนพระนคร (ราวพุทธสตวรรษที่ 15 - 18) หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงรวบรวมแคว้นเจนละบกและเจนละน้ำเข้าด้วยกันเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 14 พระเจ้ายโศวรมันกษัตริย์เขมรอีกองค์หนึ่ง ซึ่งทรงไว้ด้วยพระราชอำนาจได้ทรงสถาปนาเมือง “ยโศธรปุระ” หรือ ”เมืองพระนคร” ขึ้นเป็นราชธานีของอาณาจักรกัมพูชา เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 15 อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมและการปกครองของเขมรได้เริ่มแผ่ขยายเข้ามายังบรรดาเมืองต่างๆในเขตพื้นที่ราบอุบลราชธานีและยโสธร |
อิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรสมัยเมืองพระนคร โดยเฉพาะลักษณะของการตั้งชุมชนศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจะกระจายอยู่ค่อนข้างหนาแน่นทางฝั่งขวาของแม่น้ำมูลหรือทิศใต้ของตัวจังหวัดอุบลราชธานี เขตอำเภอวารินชำราบ เดชอุดม บุณฑริก น้ำยืน และกิ่งอำเภอสำโรง ส่วนพื้นที่ทางด้านเหนือซึ่งเคยรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมทวารวดีก่อนมีความเปลี่ยนแปลงน้อย จะพบเฉพาะประติมากรรมศิลปะเขมรและเรื่องใช้ประเภทเครื่องด้ายจำนวนไม่มากนัก |
โบราณวัตถุ สถานศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร ในเขตจังหวัดอุบลราชธานีมรจำนวนน้อยเมื่อเปรียบกับชุมชนอื่นๆ ในเขตอีสานใต้ คงเป็นเพราะอยู่ห่างจากเส้นทางการติดต่อระหว่างเมืองพระนคร ฐานและความสำคัญของชุมชนด้อยกว่ากลุ่มเมืองขึ้นของอาณาจักรกัมพูชาแถบจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ที่สำคัญได้แก่ ประติมากรรมรูปพระคเณศ จากบ้านโนนกาเล็น กิ่งอำเภอสำโรง ปราสาทบ้านเบ็ญ ปราสาทหนองทองหลาง บ้านท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม ปราสาทพระธาตุนางพญา อำเภอบุณฑริก ปราสาทภูปราสาท ช่องอานม้า และปราสาทพระลานตากเสก ช่องบกบนเทือกเขาพนมดงรัก มีอายุระหว่างพุธศตวรรษที่ 15 - 18 |
อิทธิพลของวัฒนธรรมสมัยเมืองพระนครคงสิ้นสุดลงพร้อมกับรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มลดน้อยลงและขาดหายไปเป็นระยะเวลาถึง 400 ปีเศษ |
วัฒนธรรมไทย - ลาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 - ปัจจุบัน พื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีนับแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาคงเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขมรและชนเผ่ากุยหรือพวกส่วยมาก่อน ล่วงมาถึง พุทธศักราช 2254 - 2263 จึงปรากฏหลักฐานชุนชนไทย – ลาว กลุ่มแรกที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์พร้อมกับท่านพระครูเสม็ดมาจากเขตเมืองจำปาศักดิ์ได้เข้ามาตั้งรกรากที่บ้านทรายมูล และบ้านดอนหนองเมือง ซึ่งต่อมาชุมชนขยายตัวมาเป็นบ้านพระเหลาและเมืองพนานิคมในเวลาต่อมา |
ระหว่าง พุทธศักราช 2313 - 2319 ชาวไทย - ลาวอีกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของเจ้าพระวอและบุตรหลานเจ้าพระตา ได้อพยพโยกย้ายจากเมืองหนองบัวลุ่มภูในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู (เดิมตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี) ลงมาตั้งรกรากอยู่ ณ บริเวณดอนมดแดงและบ้านแจระแม เป็นเหตุให้มีการตั้งเมือง “อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช” ขึ้น เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ ปีชวด พุทธศักราช 2335 โดยมี “พระปทุมวรราชสุริยวงศ์” เป็นเจ้าเมืองคนแรก |
อิทธิพลของวัฒนธรรมไทย - ลาว จึงได้เริ่มแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน บรรดาโบราณวัตถุและโบราณสถานที่สร้างขึ้นในระยะนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน คือ |
ระยะที่ 1 ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 - กลางพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นระยะเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานบรรดาโบราณวัตถุและโบราณสถาน มีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่มักจะแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทน์อย่างเด่นชัดจนไม่สามารถจะแบ่งแยกความแตกต่างทางรูปแบบของศิลปะออกจากกันได้ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะชาวอุบลราชธานี สืบเชื้อสายมาจากเมืองเวียงจันทน์ |
ระยะที่ 2 ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ 24 - กลางพุทธศตวรรษที่ 25 หลังจากที่ตั้งเมืองอุบลราชธานีขึ้น ณ บริเวณดงอู่ผึ้ง อันเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดในปัจจุบันนี้แล้ว อิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มแผ่เข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในระยะนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะดังกล่าวอย่างเด่นชัด เกิดเป็นลักษณะเฉพาะของฝีมือช่างอุบลราชธานี ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและ งานศิลปะสาขาอื่นๆ เช่น จิตรกรรมและประณีตศิลป์ เป็นต้น
|
การปกครอง
|
|
เมืองอุบลราชธานีก่อนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานเป็นหัวเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร การปกครองแต่เดิมยังยึดหลักจารีตโบราณที่ถือปฏิบัติ กันมาแต่ครั้งเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทร์ยังเป็นราชธานี คณะปกครองสูงสุดของเมือง คือ “อาญาสี่” หรือ“อาชญาสี่” ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร รวม 4 ตำแหน่ง แบ่งเขตการปกครองของเมืองออกเป็น 4 กอง ตามตำแหน่งให้ราษฏรมาขึ้นสำมะ โนครัวในกองใดกองหนึ่งตามความสมัครใจ
|
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งผู้ช่วยอาญาสี่ชั้นเจ้า หรือ "ท้าวที่ 1" 4 ตำแหน่ง “ขื่อบ้านขางเมือง” รองลงไป 17 ตำแหน่ง และตำแหน่งพิเศษอีกจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ด้านต่างๆ เช่น กำลังพล พลเรือน ตัดสันคดีความชั้นต้น งานโยธาจัดหาเสบียง เก็บส่วยสาอากร เป็นต้น |
เจ้าเมืองอุบลที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งมีจำนวนทั้งสิ้นรวม 4 คน คือ |
1. พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ ระหว่าง พุทธศักราช 2335 - 2338 รวม 3 ปี (นามเดิมท้าวคำผง บุตรเจ้าพระตา) |
2. พระบรมวรราชสุริยวงศ์ ระหว่าง พุทธศักราช 2338 - 2383 รวม 45 ปี (นามเดิมพรหมน้อง พระปทุมฯ) |
3. พระบรมวรราชสุริยวงศ์ ระหว่าง พุทธศักราช 2383 - 2406 รวม 18 ปี (นามเดิมกุทองบุตรพระพรหม) |
4. เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ระหว่าง พุทธศักราช 2409 - 2429 รวม 20 ปี (นามเดิม เจ้าหน่อคำบุตรเจ้าเสือ หลานเจ้าอนุวงศ์)
|
การปฏิรูปการปกครอง
|
การปฏิรูปการปกครองมีพลสืบเนื่องมาถึงระบอบการปกครองเดิมของเมืองอุบลราชธานีคงเริ่มต้นเมื่อ พุทธศักราช 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า การปกครองหัวเมืองสยามในภาคอีสานยังได้รับการดูแลไม่ทั่วถึงจึงมีสารตราโปรดเกล้าฯให้จัดการบริหารราชการส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่โดยรวมหัวเมืองเอก โท ตรี และจัตวาแต่เดิมแล้วแบ่งเป็น 4 กองให้มีข้าหลวงกำกับกองละ 1 คน และมีข้าหลวงใหญ่กำกับราชการอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์อีก 1 คน เมืองอุบลราชธานีรวมอยู่ในกอง “หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ”มีพระยามหา- อำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีพ็ญ) ข้าหลวงเมืองจำปาศักดิ์ เป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองคอยกำกับดูแล |
ต่อมาในปี พุทธศักราช 2434 ทรงมีพระราชปรารภว่าบ้านเมืองเจริญขึ้นมากแล้ว การติดต่อตกลงแบ่งเขตแดนพระราชอาณาจักรกับเขตบ้านเมืองในการปกครองของฝรั่งเศสยังไม่เป็นที่เรียบร้อยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนออกไปประจำอยู่ ณ เมืองจำปาศักดิ์ให้เรียกว่า “ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว” แล้วให้รวบหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก (เมืองจำปาศักดิ์) กับตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกันเรียกว่า “มณฑลลาวกาว” พระเจ้ายาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลกาวประทับอยู่ที่เมืองอุบลฯ ได้ 2 ปี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ย้ายมาดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งแทนเมื่อ พุทธศักราช 2436 ในปีต่อมาได้เริ่มมีการใช้มณฑลเทศาภิบาลและมีการปรับปรุงแก้ไขระบบการบริหารงานอีกหลายครั้ง ชื่อของมณฑลลาวกาวเปลี่ยนไปเป็น “มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ” “มณฑลอีสาน” แยกเป็น “มณฑลอุบลราชธานี” ใน พุทธศักราช 2455 และหุบไปสังกัดมณฑลนครราชสีมาใน พุทธศักราช 2468 |
เมื่อสิ้นสุดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชแล้วได้มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ ใน พุทธศักราช 2476 โดยเลิกมณฑลเทศาภิบาลในจังหวัดเป็นหน่วยงานการปกครองหลักและมีการปรับปรุงจัดตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขึ้นอีกส่วนหนึ่งและพัฒนาการมาเป็นระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
|
การจัดแสดงนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
|
มุ่งเน้นเรื่องราวด้านต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา ศาสนาและการปกครอง โดยแบ่งการจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น 10 ห้อง ดังนี้
|
ห้องจัดแสดงที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี
|
|
จัดแสดงข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งการแบ่งเขตการเมืองการปกครอง และเส้นทางคมนาคม ตราประจำจังหวัด ภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญทั้งทางด้านวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ |
|
ห้องจัดแสดงที่ 2 ธรณีวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
|
จัดแสดงข้อมูลการกำเนิดโลก แผนที่ลักษณะธรณีวิทยาที่ราบสูง ซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ เรื่องราวของไดโนเสาร์ ตัวอย่างแร่และหินชนิดต่างๆ และการขุดพลอยในเขตจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
|
ห้องจัดแสดงที่ 3 สมัยก่อนประวัติศาสตร์
|
|
จัดแสดงข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบด้วยโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในเขตจังหวัดอุบลราชธานี เช่น เครื่องมือหิน กลองมโหระทึก ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ เครื่องใช้และเครื่องประดับสำริด รวมทั้งอาวุธที่ทำจากสำริดและเหล็ก ที่ผนังจะมีภาพเขียนสีจำลองจากแหล่งภาพเขียนสีผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งภาพเขียนสีที่สำคัญในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
|
ห้องจัดแสดงที่ 4 สมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรก วัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเจนละ
|
จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรก ในวัฒนธรรมเจนละหรือวัฒนธรรมเขมรก่อนเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 และวัฒนธรรมทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 15 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สุด ได้แก่ อรรธนารีศวร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 ค้นพบในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประติมากรรมที่สลักรวมรูปพระศิวะและพระอุมาผู้เป็นชายารวมไว้เป็นองค์เดียวกัน ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างเป็นเทพที่เคารพนับถือในศาสนาฮินดู นอกจากนี้มีเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมร แบบไพรกเมง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 พระพุทธรูปและใบเสมาหินทราย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13
|
ห้องจัดแสดงที่ 5 วัฒนธรรมขอมหรือเขมรสมัยเมืองพระนคร
|
จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ที่ได้รับอิทธิพลเขมรสมัยเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 เช่น พระคเณศศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ ทับหลังแบบกำพงพระ ทับหลังแบบบาปวน ศิวลึงค์หินทราย และชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมจากโบราณสถานที่สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ภาพสลักเทพนพเคราะห์จากปราสาทบ้านเบ็ญ
|
ห้องจัดแสดงที่ 6 วัฒนธรรมไทย - ลาว
|
จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในวัฒนธรรมไทย - ลาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 - 25 โดยเน้นเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้งที่ทำจากไม้ สำริด และหินทรายลงรักปิดทอง โบราณวัตถุสำคัญได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะลาว หล่อด้วยสำริด เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก ที่ฐานมีจารึกสรุปได้ว่า เจ้าอนุวงศ์เป็นผู้ให้หล่อขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2369
|
ห้องจัดแสดงที่ 7 ผ้าโบราณและผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี
|
|
จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทผ้าทอโบราณ และผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี เช่น ผ้านุ่งของสตรีชั้นสูง ผ้าฝ้าย และผ้าไหมทอลวดลายต่างๆ
|
ห้องจัดแสดงที่ 8 ดนตรีพื้นเมือง
|
|
จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีพื้นเมือง โดยทำหุ่นจำลองนักดนตรีอีสานขนาดเท่าคนจริง กำลังบรรเลงเครื่องดนตรีแบบต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่ดัดแปลงมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น พิณ ซอ โปงลาง หมากกั๊บแก๊บ โหวด แคน
|
ห้องจัดแสดงที่ 9 ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน
|
จัดแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้พื้นบ้าน เช่น เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว พร้อมขั้นตอนการทำเครื่องทองเหลือง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้แก่ เชี่ยนหมาก ผอบ ตะบันหมาก ขัน กระพรวน ซึ่งล้วนแต่มีกรรมวิธีผลิตที่สืบทอดมาแต่โบราณ นอกจากนี้ยังมีเชี่ยนหมากไม้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเชี่ยนหมากอีสานที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ปัจจุบันพบว่ายังมีการทำอยู่ที่บ้านหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และยังมีการจัดแสดงเครื่องมือจับสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ลอบ ไซ แห ฯลฯ และมีเครื่องครัวที่พบได้ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เช่น กระติบข้าว ก่องข้าว ครก หวดนึ่งข้าวเหนียว กระต่ายขูดมะพร้าว เป็นต้น
|
ห้องจัดแสดงที่ 10 การปกครองและงานประณีตศิลป์เนื่องในพุทธศาสนา
|
จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการปกครองเมืองอุบล ก่อนการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองอุบลราชธานีขณะนั้นมีฐานะเป็นประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ภายในห้องมีการจัดแสดงภาพถ่ายของบุคคลสำคัญ และเครื่องใช้ของเจ้าเมืองอุบลราชธานี และนอกจากนี้ยังมีศิลปวัตถุที่น่าสนใจ เป็นงานประณีตศิลป์เนื่องในพุทธศาสนา ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีผู้ศรัทธาถวายเป็นพุทธบูชา ตามวัดต่างๆ ในเมืองอุบลราชธานี เช่น ธรรมาสน์ หีบพระธรรม ภาพพระบฏ ตู้พระธรรม รางสรงน้ำ กากะเยีย เชิงเทียน คัมภีร์ใบลานต่าง |
|
|