ประวัติความเป็นมา

TH about02

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย
เดิมตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง ปัจจุบันได้ย้ายไปตั้งอยู่บริเวณศูนย์ราชการแห่งใหม่ริมถนนสายสุพรรณ - ชัยนาท (340) เป็นอาคารคอนกรีตออกแบบผสมผสานระหว่างเรือนไทยและยุ้งฉางของชาวนาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำนาโดยไม่ได้จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุชั้นล่างจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำนาเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ประเพณีวิถีชีวิตของชาวนาเรื่องราวของข้าวในอดีต
Picture1

ในปีพุทธศักราช 2528 - 5229 สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีทำปุ๋ยหมักธรรมชาติที่บ้านแหลมสะแก อำเภอบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี และหลังจากนั้นไม่นาน ได้เสด็จพระราชดำเนินลงนาโดยหว่านข้าวและปุ๋ยหมักลงในแปลงนาสาธิต ณ บึงไผ่แขก อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีครั้งถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวต้นข้าวสุกเหลืองอร่ามเต็มท้องนาจังหวัดสุพรรณบุรีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารอีกวาระหนึ่งโดยได้เสด็จพระราชดำเนินทางเกี่ยวข้าวที่ได้ทรงปลูกไว้เป็นปฐมฤกษ์ซึ่งพระจริยาวัตรที่งดงามนี้ยังความปลาบปลื้มปีติโสมนัสแก่บรรดาเหล่าเกษตรกรและพสกนิกรชาวไทยเป็นยิ่งนักเหตุการณ์ทั้งหมดนี้นับเป็นพระราชกรณียกิจที่ใหญ่สมควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของไทย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย ได้จัดแสดงสิ่งสำคัญ อาทิ รวงข้าวจำนวน 9 รวงแรก ที่สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารทรงเกี่ยวเป็นปฐมฤกษ์รวมทั้งเคียวเกี่ยวข้าวด้ามทองคำที่จังหวัดสุพรรณบุรี จัดทำขึ้นน้อมเกล้า
น้อมกระหม่อมถวายเป็นพิเศษ และยังรวมภาพเหตุการณ์อุปกรณ์เครื่องมือที่ทรงใช้ในการทำนาประวัติศาสตร์ครั้งนี้มาจัดแสดงด้วย
นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย ยังได้จัดแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยกับชาวนาร่องรอยของข้าวในอดีตวิวัฒนาการของการทำนาในประเทศไทยตลอดจนประเพณีวิถีชีวิตของผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ นั่นคือ "ชาวนา"
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย ตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ภายในบริเวณเดียวกันกับศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่บริเวณรวมทั้งสิ้นประมาณ 200 ตารางวา กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2533

ความเป็นมาในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย (หลังใหม่)

TH about01

ตามที่จังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย บริเวณศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรีหลังเดิมถนนพระพันวษาเพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงเหตุการณ์สำคัญที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราช ดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการทำปุ๋ยหมักสาธิตการทำนาและเกี่ยวข้าวในจังหวัดสุพรรณบุรีถึง 3 ครั้ง และเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2537 นั้น
เนื่องจากปัจจุบันศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรีได้ย้ายไปอยู่ในศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ถนนสุพรรณบุรี - ชัยนาท (ทางหลวงหมายเลข 340) ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรีหลังเดิม ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันบริเวณสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย มีสภาพภูมิทัศน์ไม่สวยงามดังเดิม
จังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาเห็นว่า เพื่อให้สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย มีความเหมาะสม สง่างาม และสมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตย้ายและก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย จึงใคร่ขอเสนอกรมศิลปากรพิจารณาและสนับสนุนจังหวัดสุพรรณบุรี ในการย้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย ไปตั้งอยู่ในศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี บริเวณด้านข้างศาลากลางจังหวัด ด้านทิศใต้ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง สามารถจัดสภาพภูมิทัศน์ให้สวยงามและสมพระเกียรติได้ดีกว่าที่เดิม
ซึ่งหากจากสถานที่เดิมประมาณ 4.5 กิโลเมตร โดยให้กรมศิลปากรและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้ออกแบบอาคารและการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย โดยอาศัยรูปแบบอาคารเดิมเป็นฐานในการคิด และได้สรุปรูปแบบเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น มีใต้ถุนล่าง มีพื้นที่ ใช้สอยทั้งหมด 1,890 ตารางเมตร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมนำความคิดมาจากยุ้งข้าวทางภาคกลาง ประดับตกแต่งด้วยลายรวงข้าว มีพื้นที่โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มุงหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ หันด้านหน้าอาคารไปทางทิศเหนือ
ระยะเวลาในการดำเนินการออกแบบและก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทยแล้วเสร็จเดือนกันยายน พุทธศักราช 2551 ดำเนินการจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทย โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด สุพรรณบุรี แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พุทธศักราช 2552 และดำเนินการย้ายการปฏิบัติงานที่อาคารหลังใหม่ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2552