นิทรรศการ

event01

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

             จากการศึกษาแผ่นพับแสดงรายละเอียดการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั้งแผ่นพับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้นำข้อมูลจากแผ่นพับมารวบรวมเข้าด้วยกันเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำคู่มือแนะนำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้ (กรมศิลปากร, ม.ป.ป.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จัดแสดงเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของจังหวัดสงขลาและพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง การจัดแสดงเน้นหลักฐานทางโบราณคดี จากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดปัตตานี รวมถึงศิลปวัตถุ งานสถาปัตยกรรม งานประณีตศิลป์ และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับบริจาคจากประชาชนในพื้นที่ การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 14 ห้อง ดังนี้
             
event01

ห้องที่ 1 :   วิถีชีวิตสงขลา  จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ  คือ “ โหนด-นา-เล” คือ วิถีชีวิตของชาวสงขลา ซึ่งผูกพันอยู่กับชีวิตประจำวันของคนในแถบนี้ โดยที่ “โหนด” คือ การใช้ประโยชน์จากตาลโตนด “นา” คือ การปลูกข้าว และ “เล” คือ การทำประมงสองทะเล ทั้งทะเลสาบและทะเลฝั่งอ่าวไทย

event02

ห้องที่ 2 : ภูมิลักษณ์คาบสมุทรสงขลา จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ สงขลาตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู บนเส้นทางการค้าทางทะเลทั้งจากอินเดีย, จากตะวันออกและตะวันตก จึงเป็นทางผ่านของพ่อค้าต่างชาติ มาตั้งแต่อดีต และพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่า ทางการค้าที่สำคัญในเวลาต่อมา

event03

ห้องที่ 3 : สงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในจังหวัดสงขลา เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว โดยกลุ่มคนแรกเริ่มมีวิถีชีวิตแบบหาของป่า – ล่าสัตว์ ภายหลังจึงดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก และจับสัตว์น้ำ

event04

ห้องที่ 4 : ประวัติศาสตร์แรกเริ่มบนคาบสมุทรสทิงพระ จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ ชุมชนเมืองท่าของสงขลา กระจายอย่างกว้างขวางบนพื้นที่จากอำเภอระโนดไปถึงอำเภอสทิงพระ ตลอดไปจนถึงหัวเขาแดงในอำเภอเมืองสงขลา คาบสมุทรสทิงพระ รับอิทธิพลทางศาสนาและความเชื่อจากการติดต่อกับชุมชนภายนอกมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกภาชนะดินเผาไปขายในชุมชนอื่น ๆ

event05

ห้องที่ 5 : สงขลาหัวเขาแดง จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ สงขลาหัวเขาแดง เป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ภายใต้นโยบายการค้าเสรีของผู้ปกครองเชื้อสายมุสลิม กระตุ้นให้ธุรกิจการค้าคึกคักกว่าที่เคยเป็น

event01

ห้องที่ 6 : สงขลาแหลมสน จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ หลังจากสงขลาหัวเขาแดงถูกทำลายลงโดยกองทัพอยุธยา ได้มีการอพยพและตั้งชุมชนใหม่ในบริเวณแหลมสน เรียกว่า สงขลาฝั่งแหลมสน โดยชาวจีนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง โดยชาวจีนนามว่า “เฮาเหยียง” ต้นตระกูล ณ สงขลา พัฒนาเมืองให้เจริญขึ้นอย่างมาก

event01

ห้องที่ 7 : สงขลาบ่อยาง จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ สงขลาบ่อยาง ภายใต้การนำของผู้ปกครองเชื้อสายจีน ได้รับเอาอิทธิพล ศิลปะ วิทยาการใหม่ ๆ จากจีน ฮ่องกง ปีนังและสิงคโปร์มาเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง

event01

ห้องที่ 8 : ความสัมพันธ์การค้ากับต่างประเทศ จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ ชื่อเมืองสงขลา ปรากฏขึ้นในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับ ระหว่างปี พ.ศ.1993 ถึง 2093 ในนาม “ซิงกูร์” หรือ “ซิงกอรา” มีบทบาทสำคัญในระบบการค้าโลกมาแต่โบราณ โดยเฉพาะการค้ากับฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส

event01

ห้องที่ 9 : บันทึกสงขลา จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ ศิลปวัตถุของผู้ปกครองเมืองสงขลา เป็นหนึ่งในหลักฐานที่สะท้อนถึงการการปกครอง 3 ช่วงเวลา คือ สงขลาภายใต้ การนำของผู้ปกครองเชื้อสายมุสลิม (สงขลาหัวเขาแดง) สงขลาภายใต้การปกครองของชาวจีน (สงขลาแหลมสนและสงขลาบ่อยาง) และสงขลาภายหลังการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งมีการปรับบทบาทของเจ้าเมืองให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา อิทธิพลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากศิลปวัตถุ ได้แก่ บานประตูไม้แกะสลักลายจีน ชุดเซารามิกจากตะวันตก และชุดภาชนะทองเหลืองศิลปะของชาวมุสลิม

event01

ห้องที่ 10 : ศิลปกรรมสงขลา จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ ศิลปกรรมสงขลา เกิดจากการหลอมรวมทางวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม จีน และตะวันตก ที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองสงขลา ก่อให้เกิดการผสานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมจนเกิดเป็นเอกลักษณ์อันงดงาม

event01

ห้องที่ 11 : ประวัติศาสตร์โบราณคดีภาคใต้ตอนล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ ชุมชนเกิดขึ้นหลายแห่งบริเวณลุ่มน้ำปัตตานี หนึ่งในนั้น คือ เมืองโบราณที่อำเภอยะรัง หรือเมืองลังกาสุกะ โดยมีความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนอยู่ในหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรม เช่น ศิวลึงค์ เศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระพิมพ์ดินเผา

event01

ห้องที่ 12 : สุนทรียภาพในวิถีชีวิตของชาวภาคใต้ตอนล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ ภูมิศาสตร์ทางภาคใต้ตอนลางต่างก็เคยเป็นเมืองท่าค้าขาย รับอิทธิพลทางศิลปะ ศาสนา และความเชื่อจากอินเดียในระยะแรกเริ่ม และอิทธิพลวัฒนธรรมจากกลุ่มเมืองในคาบสมุทรมลายูด้วยกันในเวลาต่อมา ผนวกกับความเชื่อมั่นศรัทธา ต่อศาสนาอิสลาม อย่างเคร่งครัด ส่งผลให้วิถีชีวิตชาวภาคใต้ตอนล่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังเห็นได้จากภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม

event01

ห้องที่ 13 : สงขลาย้อนยุค จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ ประมาณ 60-70 ปีที่ผ่านมา สงขลามีย่านธุรกิจการค้าที่เฟื่องฟู บริเวณถนนนครนอก นครใน และถนนนางงาม มีห้องถ่ายรูปที่ทันสมัย มีโรงภาพยนตร์ และสถานเริงรมย์ มีการคมนาคม ทั้งเรือโดยสาร รถไฟ และสนามบินพาณิชย์ สิ่งเหล่านี้ สะท้อนภาพความทันสมัยของสงขลาในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

event01

ห้องที่ 14 : ศาลากลางแจ้ง จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามสาระสำคัญ คือ หน้าบันจำหลักลวดลายต่าง ๆ และชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมที่วัดต่าง ๆ ได้มอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา