ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์
พิพิธภัณฑสถานแห่ง ชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ พิพิธภัณฑ์ในลักษณะอนุสรณ์สถาน ตั้งขึ้นเพื่อรำลึก ถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรจี) ศาสตราจารย์ชาวอิตาเลียน ซึ่งเข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นเวลากว่า 40 ปีที่ท่าน ได้อุทิศตนให้แก่งานศิลปวัฒนธรรมไทย ผลงานที่สำคัญ คือ เป็นผู้ริเริ่มโรงเรียนศิลปากร และร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย การจัดแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ การตั้งหอศิลป์ อีกทั้งยังมีผลงานและบทความทางวิชาการด้านศิลปะมากมาย ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนาวงการศิลปะสมัยใหม่ใน ประเทศไทยจนได้รับการยกย่องว่า “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย”
ภาย หลังจากการเสียชีวิตของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ลูกศิษย์และผู้ที่เคารพในตัวอาจารย์ได้รวมตัวกันเพื่อดำเนินการจัดหาทุนใน การจัดตั้งอนุสรณ์สถานของท่าน โดยขอความอนุเคราะห์จากสถาบันและบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อบูรณะอาคารที่ทำงานเดิมของท่านในเขตพื้นที่ของกรมศิลปากร ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ให้อยู่ในสภาพดีอีกครั้ง จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2527 ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 92 ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยนายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ถือเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยของที่ สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย บรรยากาศภายในเหมือนห้องทำงานที่ท่านใช้งานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน และข้าวของเครื่องใช้ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ตลอดจนผลงานศิลปกรรมของศิลปินแห่งชาติ และศิลปินชั้นเยี่ยมของประเทศไทยซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด อาทิ นายเฟื้อ หริพิทักษ์ นายประยูร อุลุชาฎะ นายชลูด นิ่มเสมอ นายจำรัส เกียรติก้อง นายเขียน ยิ้มศิริ นายสวัสดิ์ ตันติสุข นายทวี นันทขว้าง เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงจุดเริ่มต้น และพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ประวัติศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรจี)
นายศิลป์ พีระศรี หรือ นายคอร์ราโด เฟโรจี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ณ ตำบลซานตา จิโอวานี นครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในครอบครัวซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย บิดาคือ นายอาทูโด มารดาคือ นางซานตินา มิได้ส่งเสริมหรือให้ความสนใจทางด้านศิลปะมากนัก แต่ด้วยพรสวรรค์และความสนใจ ส่วนตัวได้นำเด็กชายผู้นี้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะ จนจบการศึกษาจากสถาบันศิลปะชั้นสูง แห่งนครฟลอเรนซ์ และได้รับการยกย่องให้เป็นศาสตราจารย์สอนศิลปะที่สถาบันแห่งนั้นตั้งแต่อายุเพียง 23 ปี
ในปีพ.ศ. 2466 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์รับนายช่างผู้มีฝีมือดีเข้ามาทำงานให้กับประเทศ รัฐบาลไทยจึงได้ตกลงกับรัฐบาลอิตาลีเพื่อดำเนินการคัดเลือกนายช่างผู้มีความสามารถ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกจากรัฐบาลอิตาลี จากนั้นท่านจึงเดินทางมาเมืองไทยพร้อมกับนางแฟนนี่ ผู้เป็นภรรยา และอิซาเบล่า บุตรสาว เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งนายช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัง ท่านได้พิสูจน์ถึงอัจริยภาพทางด้านงานปั้นให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการปั้นรูปเหมือนสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทำให้ท่านได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ออกแบบและปั้นอนุสาวรีย์ที่สำคัญของประเทศเรื่อยมา จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในขณะนั้นรัฐบาลได้มีนโยบายดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อติดตั้งตามหัวเมืองต่างๆ ศาสตราจารย์คอร์ราโด จึงต้องรับภาระงานอย่างหนักเพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ใน ปี พ.ศ. 2476 ท่านจึงริเริ่มให้มีการจัดตั้งโรงเรียนศิลปะแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรผู้มีความชำนาญในงานปั้นมาสรรค์สร้างอนุสาวรีย์ของชาติ โรงเรียนศิลปากรแผนกช่างจึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประณีตศิลปกรรม และยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2486 โดยมีศาสตราจารย์คอร์ราโด ดำรงตำแหน่งคณบดีประติมากรรมคนแรกของมหาวิทยาลัย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศอิตาลียอมแพ้สงครามแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยจึงตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมันและญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลทางการเมือง หลวงวิจิตรวาทการจึงดำเนินการทำเรื่องขอโอนสัญชาติ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี มาเป็นสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น "นายศิลป พีระศรี" ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2487 เพื่อคุ้มครองท่านไว้ ไม่ให้ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นเชลยศึกในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแควที่กาญจนบุรี ต่อมาชื่อของท่านเป็นที่รู้จักกันในนามศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ตลอดชีวิตของ บั้นปลายของชีวิตท่านได้สมรสกับภรรยาคนไทย ชื่อนางสาวมาลินี เคนนี ภายหลังจากแยกทางจากนางแฟนนี่ ภรรยาชาวอิตาเลียน จนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ท่านจากไปด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505
ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้อุทิศตนเพื่อศิลปะ อาทิเช่น ท่านเป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้น ในปีพ.ศ. 2492 ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยในระดับประเทศของไทย และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในวงการศิลปะ รวมถึงเป็นผู้แทนศิลปินนำผลงานศิลปะร่วมสมัยของไทยไปเผยแพร่สู่นานาอารยประเทศ ในงานแสดงศิลปกรรมที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคมศิลปะแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นหน้าที่อันทรงเกียรติ ปีพ.ศ. 2497 ได้เป็นผู้แทนศิลปินไทยไปร่วมประชุมศิลปินระหว่างชาติที่ประเทศออสเตรีย ในครั้งนั้นท่านได้นำเอกสารผลงานศิลปะและบทความศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยไปเผยแพร่ ซึ่งทำให้นานาชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น
ผลงานการสร้างสรรค์ประติมากรรมและอนุสาวรีย์ชิ้นสำคัญ เช่น พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประดิษฐานอยู่ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ กรุงเทพฯ พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐานอยู่ที่วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานอยู่ที่อนุสาวรีย์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นต้น
ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ถือเป็นผู้ที่เสียสละและอุทิศตนเพื่องานศิลปะของชาติ โดยเป็นผู้ที่ทำให้วงการศิลปะของไทยเริ่มต้นย่างก้าวสู่รูปแบบที่เป็นสากล ด้วยการนำความรู้ทางด้านศิลปะตามหลักวิชาการแบบตะวันตกมาเป็นแนวทางในการวางรากฐานการศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อผลิตศิลปินรุ่นใหม่ขึ้นตอบสนองตามความต้องการของรัฐบาลและสังคมในยุคสมัยนั้น ซึ่งก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและการศึกษาทางด้านศิลปะในเวลาต่อมา ตลอดจนเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดทางด้านศิลปะระหว่างศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศ จึงถือว่าศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้บุกเบิกแห่งการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยอย่างแท้จริง