นิทรรศการ

อาคารนิทรรศการถาวรของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

TH 12

สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เพื่อใช้เป็นที่ว่าการเมืองและที่ว่าการมณฑลราชบุรี ต่อมาในปี พุทธศักราช 2476 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มีการประกาศยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และมีการจัดระเบียบการปกครองใหม่เป็นจังหวัดและอำเภอ อาคารหลังนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดตามลำดับ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2524 จึงได้มีการย้ายไปใช้ศาลากลางหลังใหม่ที่กระทรวงมหาดไทยจัดสร้างขึ้น
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปีพุทธศักราช 2520 และเข้ามาสำรวจและขอใช้พื้นที่จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ในปีพุทธศักราช 2526 และมีการบูรณะอาคารพร้อมกับการปฏิบัติการสำรวจ เก็บข้อมูล คัดเลือกและรวบรวมศิลปะโบราณวัตถุสำหรับจัดแสดงนิทรรศการถาวร ในปีพุทธศักราช 2528 - 2530 เมื่อการจัดนิทรรศการถาวรเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ กรมศิลปากรจึงได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2534
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม อาคารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบตึกสี่หลังล้อมสนามสี่เหลี่ยม มีตึกกลางคั่นแบ่งสนามเป็น 2 ส่วน ซึ่งจัดเป็นสวนภายในบรรยากาศเรียบง่ายและร่มรื่นสวยงาม ขนาดอาคารกว้าง 30 เมตร และยาว 57 เมตร และขนาดสนามกลางอาคารทั้ง 2 สนาม กว้าง 13 เมตร และยาว 17 เมตร ลักษณะอาคารเป็นอาคารแบบก่ออิฐฉาบปูนชั้นเดียวยกพื้นสูง ผนังด้านนอกไม่มีระเบียง หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว จุดเด่นอยู่ที่มุขกลางที่มีมุขโถงยื่นออกมาเป็นที่เทียบรถ ผนังมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมใหญ่เรียงชิดติดกันข้างละ 3 ต้น รับคานเครื่องบนประดับหน้าบันทรงโค้งหลายตอนแบบศิลปะตะวันตก กลางหน้าบันประดับปูนปั้นตราครุฑ ประตูหน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ ด้านบนเป็นช่องแสงกระจก เหนือหน้าต่างประดับลายปูนปั้น
อาคารหลังนี้ได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปีพุทธศักราช 2548 ซึ่งคัดเลือกโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

อาคารจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ อาคารสำนักงาน และคลังโบราณวัตถุ
(ทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปีพุทธศักราช 2416 เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในคราวที่ท่านมาพักผ่อนยังเมืองราชบุรี ภายหลังเมื่อท่านถึงแก่พิราลัย (วันที่ 19 มกราคม พุทธศักราช 2425) บ้านหลังนี้จึงตกเป็นทรัพย์สินของทางราชการ
ในครั้งแรกของการจัดตั้งมณฑลราชบุรี เมื่อปีพุทธศักราช 2438 อาคารหลังนี้ได้ใช้เป็นที่ทำการของกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลราชบุรีขึ้นใหม่ อาคารหลังนี้จึงถูกใช้เป็นจวนที่พักของเจ้าเมืองราชบุรีแทน
ในปีพุทธศักราช 2499 อาคารหลังนี้ได้ถูกใช้ประโยชน์เป็นที่ทำการสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง ราชบุรี และเป็นห้องสมุดประชาชนจังหวัดราชบุรี ตามลำดับ จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2539 อาคารได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี สำหรับใช้เป็นสำนักงาน คลังโบราณวัตถุ และส่วนจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวหรือจัดกิจกรรมพิเศษ เดิมอาคารหลังนี้เป็นบ้านขนาดใหญ่ใต้ถุนสูง ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2440 มีการต่อเติมใต้ถุนชั้นล่างอาคารด้านหลังและมุขด้านหน้า ทำให้เกิดลักษณะรูปแบบอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 14.30 เมตร ยาว 16 เมตร มุงกระเบื้องว่าว ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่นิยมสร้างในช่วงเวลานั้น

ข้อมูลการจัดแสดง
การจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จะเน้นเรื่องราวของท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 เรื่อง ด้วยกัน ได้แก่

1. สภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี

TH 01
จัดแสดงแหล่งกำเนิดทรัพยากรธรรมชาติประเภท ดิน หิน แร่ธาตุและรูปจำลอง ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ( กาญจนบุรีและเพชรบุรี )  โดยมีตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ ดิน หินแร่    อัญมณี และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีแหล่งกำเนิดในจังหวัดราชบุรีจัดแสดงประกอบ

2. ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของราชบุรี
จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในจังหวัดราชบุรี เรียงลำดับตามยุคสมัยดังต่อไปนี้

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

TH 02
จัดแสดงหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีของมนุษย์ในยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบริเวณจังหวัดราชบุรี เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำจากหิน โลหะ กระดูกสัตว์ต่างๆ รวมทั้งภาชนะดินเผา กลองมโหระทึก และโครงกระดูกมนุษย์ เป็นต้น

ราชบุรีในวัฒนธรรมทวารวดี

TH 03
จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานต่างๆ ของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 โดยเฉพาะเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู

ราชบุรีในวัฒนธรรมเขมร

TH 04
จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานของวัฒนธรรมเขมร หรือ “ลพบุรี” ที่ปรากฏในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 โดยมีโบราณวัตถุที่สำคัญภายในห้องจัดแสดงนี้ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่บริเวณจอมปราสาท เมืองโบราณโกสินารายณ์ เป็น 1 ในจำนวน 5 องค์ ที่พบในดินแดนประเทศไทย

ราชบุรีในสมัยสุโขทัย - ธนบุรี

TH 05
จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 - 24 จากหลักฐานชื่อเมืองราชบุรีที่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ราชบุรีเป็นเมืองท่า เมืองหน้าด่านและเส้นทางการเดินทัพในสมัยอยุธยา โดยจัดแสดงหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เครื่องถ้วยจีนและเครื่องปั้นดินเผา

ราชบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์

TH 06
จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วง พุทธศักราช 2325 - 2475 แสดงถึงความสำคัญของเมืองราชบุรี ในด้านการเมืองการปกครองการพัฒนาท้องถิ่น ต่อเนื่องจากสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 7)

3. เผ่าชนชาติพันธุ์วิทยาของจังหวัดราชบุรี

TH 07
จัดแสดงเรื่องราวของกลุ่มชนชาติพันธุ์ของจังหวัดราชบุรี ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์เป็นลักษณะเด่นของจังหวัด กลุ่มชนเหล่านี้มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและประเพณีที่แต่ละชาติพันธุ์ยังคงยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ชาติพันธุ์เหล่านี้ ได้แก่ ชาวไทยพื้นถิ่นภาคกลาง ชาวไทยจีน ชาวไทยยวน ชาวไทยมอญ ชาวไทยกะเหรี่ยง ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม

4. มรดกดีเด่น
แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

มรดกดีเด่นทางวัฒนธรรม

TH 08
มรดกดีเด่นทางวัฒนธรรม เช่น สถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยว ปูชนียวัตถุที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ประเพณีวัฒนธรรม เทศกาลงานประเพณี อาหารพื้นบ้านและหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

มรดกดีเด่นทางธรรมชาติ

TH 09
มรดกดีเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางธรรมชาติ เช่น อุทยานหินเขางู โป่ง - ยุบ แก่งส้มแมว เป็นต้น รวมทั้งต้นไม้และพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดราชบุรี

บุคคลสำคัญ

TH 10
บุคคลสำคัญ ได้แก่ บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดในด้านต่าง ๆ เช่น ปูชนียบุคคลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางด้านทหาร การเมืองและการปกครอง รวมทั้งบุคคลสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและศิลปินเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ

5. ราชบุรี ราชสดุดี

TH 11
จัดแสดงเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อจังหวัดราชบุรีในด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน ด้านการประชาสงเคราะห์และเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ด้านการเกษตรและการชลประทาน ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการลูกเสือแห่งชาติ และด้านการพระศาสนา