พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดี
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดี เป็นแผ่นหินปลายมน ตรงกลางแผ่นมีรูกลมเจาะทะลุ ด้านหน้าทำรูปพระพุทธเจ้าประทับยืน ทำปางวิตรรกะมุทราสองพระหัตถ์ มีประภามณฑลที่หลังพระเศียร พระเมาลี (อุษณีษะ)ใหญ่ พระพักตร์คล้ายรูปสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกแบน ริมพระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว (อาจประดับกุณฑล) ประทับยืนเหนือพนัสบดี ที่มีดวงหน้ากลมมน อูมอิ่ม ตากลมโปน สันจมูกหรือจะงอยปากแตกบิ่นหายไป มีแผงคอ มีหูขนาดเล็กและเขาที่มีปลายตวัดเข้าด้านใน กางปีกแผ่ออกทั้งสองข้าง มีรูปบุคคล 2 คน ยืนอยู่บนปีก บุคคลด้านซ้าย ถือแส้หรือจามร สวมผ้านุ่งยาวกรอมข้อเท้า หน้าตาแตกบิ่นหายไป ส่วนบุคคลด้านขวา ถือแส้หรือจามร สวมผ้านุ่งสั้น มีผ้าคาดเหนือพระชานุและผูกเป็นปมที่ด้านขวา สวมมุงกุฎ สร้อยคอ กำไลต้นแขน และกำไลข้อมือ ด้านหลังแผ่นหินส่วนล่างสลักเป็นรูปวงกลมนูนซ้อนกันสองชั้น
- ชื่อโบราณวัตถุ :
- พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดี
- แบบศิลปะ :
- ศิลปะทวารวดี
- ชนิด :
- หินทราย
- ขนาด :
- สูง 43 เซนติเมตร กว้าง 25 เซนติเมตร
- อายุสมัย :
- พุทธศตวรรษที่ 12 - 16
- ลักษณะ :
- เป็นแผ่นหินปลายมน ตรงกลางแผ่นมีรูกลมเจาะทะลุ ด้านหน้าทำรูปพระพุทธเจ้าประทับยืน ทำปางวิตรรกะมุทราสองพระหัตถ์ มีประภามณฑลที่หลังพระเศียร พระเมาลี(อุษณีษะ)ใหญ่ พระพักตร์คล้ายรูปสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกแบน ริมพระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว(อาจประดับกุณฑล) ประทับยืนเหนือพนัสบดี ที่มีดวงหน้ากลมมน อูมอิ่ม ตากลมโปน สันจมูกหรือจะงอยปากแตกบิ่นหายไป มีแผงคอ มีหูขนาดเล็กและเขาที่มีปลายตวัดเข้าด้านใน กางปีกแผ่ออกทั้งสองข้าง มีรูปบุคคล 2 คน ยืนอยู่บนปีก บุคคลด้านซ้าย ถือแส้หรือจามร สวมผ้านุ่งยาวกรอมข้อเท้า หน้าตาแตกบิ่นหายไป ส่วนบุคคลด้านขวา ถือแส้หรือจามร สวมผ้านุ่งสั้น มีผ้าคาดเหนือพระชานุและผูกเป็นปมที่ด้านขวา สวมมุงกุฎ สร้อยคอ กำไลต้นแขน และกำไลข้อมือ ด้านหลังแผ่นหินส่วนล่างสลักเป็นรูปวงกลมนูนซ้อนกันสองชั้น
ภาพ สลักพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี เป็นประติมากรรมสลักนูน ในศิลปะทวารวดี โดยมักทำรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนหรือนั่ง อยู่ตรงกลางเหนือพาหนะซึ่งมักทำเป็นรูปสัตว์ผสมหรือครุฑในรูปบุคคล เรียกกันว่า “พนัสบดี” สองข้างของพระพุทธองค์ปรากฏรูปบุคคลยืนหรือนั่งอยู่เคียงข้าง ซึ่งเป็นรูปของบุคคลหลายกลุ่มทั้งที่เป็น พระอินทร์และพระพรหม เทวดา หรือบุคคลในลักษณะของพระโพธิสัตว์
ภาพสลักแผ่นนี้ คงมิได้เป็นการสื่อถึงพระพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง ถึงแม้ว่าภาพสลักของบุคคลทั้งสองข้างที่มีการแต่งกายที่ต่างกัน บุคคลด้านซ้าย ถือแส้หรือจามร สวมผ้านุ่งยาวกรอมข้อเท้า ส่วนเศียรที่แตกบิ่นหายไปยังคงเห็นเค้าร่างของ ชฎามงกุฎ (มุ่นมวยผม) ซึ่งเป็นลักษณะของนักบวช อันหมายถึง พระพรหม ส่วนบุคคลด้านขวา ถือแส้หรือจามร สวมผ้านุ่งสั้น มีผ้าคาดเหนือพระชานุและผูกเป็นปมที่ด้านขวา สวมมุงกุฎ สร้อยคอ กำไลต้นแขน และกำไลข้อมือ อันหมายถึง พระอินทร์ แต่สามารถพบภาพลักษณะเช่นนี้ได้จากพระพุทธประวัติตอนต่าง ๆ เช่น ยมกปาฏิหาริย์ เทศนาโปรดพุทธมารดา และปฐมเทศนา รวมทั้งการแสดงอิริยาบถและมุทราของพระพุทธรูปเหนือพนัสบดีคงเป็นเพียงแค่ อิริยาบถและมุทราที่ได้รับความนิยมในสมัยทวารวดีเท่านั้นเอง
ส่วน พนัสบดี แต่เดิมมีนักวิชาการอธิบายเพียงเบื้องต้นว่า หมายถึง สัตว์ผสม ที่เกิดจากการนำเอาพาหานะของเทพในศาสนาฮินดูมารวมกัน ได้แก่ มีหูและเขาเหมือนโคนนทิ พาหนะของพระศิวะ มีจะงอยปากเหมือนครุฑ พาหนะของพระนารายณ์ และมีปีกเหมือนหงส์ พาหนะของพระพรหม ดังนั้น การสลักภาพพระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดีคงหมายถึงความเป็นใหญ่เหนือเทพทั้ง 3 ในศาสนาฮินดู แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับในชั้นหลังเนื่องจากภาพของพนัส บดีที่พบในศิลปะทวารวดีมีความหลากหลาย และน่าจะพัฒนามาจากครุฑ ในศิลปะอินเดีย จนพัฒนากลายเป็นสัตว์ผสมในสมัยหลัง ๆ รวมทั้งพนัสบดีที่พบในประเทศไทยแต่ละรูปแบบไม่ได้มีการสลักให้เฉพาะเจาะจง ตามลักษณะของสัตว์พาหะทั้ง 3 ชนิดเท่านั้น แต่ยังพบลักษณะของสัตว์ต่าง ๆ มากมาย อาทิ โค มังกร งู สิงโต นก เป็นต้น และยังมีการเสนอแนวคิดว่าน่าจะมีความหมายดั้งเดิมตามแบบอย่างของอินเดีย เรื่อง พนัสบดีเป็นสัตว์แห่งจักรวาลหรือดวงอาทิตย์
ในปัจจุบันภาพ สลักพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี ยังไม่สามารถสรุปประโยชน์ใช้สอยที่ชัดเจนได้ บางท่านสันนิษฐานว่าอาจเคยประดับอยู่กับธรรมจักร บางท่านสันนิษฐานว่าประดับตามหน้าบันอาคาร และบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นใบเสมาติดกับอาคาร ส่วนความหมายก็คงหมายถึง การแสดงสัญลักษณ์ที่เป็นการเชิดชูฐานันดรศักดิ์อันสูงส่งของพระพุทธเจ้า หรือ คติเรื่อง “ธรรมของพระพุทธองค์นั้น ก็เปรียบประดุจได้กับแสงแห่งดวงอาทิตย์ เมื่อส่องไป ณ ที่แห่งใดก็จะยังชีวิต หรือเกิดความสงบสุขได้ ณ ที่แห่งนั้น”
- ประวัติ :
- พบที่ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
- สถานที่จัดแสดง :
- ห้องวัฒนธรรมทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
- คิวอาร์โค้ด สำหรับเข้าถึงระบบฐานข้อมูล :
- (ท่านสามารถโหลดและนำไปใช้เพื่อการทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่อได้)