ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

p01**มุมมองด้านหน้าของทางเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

0.1

ประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

       พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือที่เรียกอีกชื่อว่า หอศิลปเจ้าฟ้า ตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร ในอดีตเป็นสถานที่ตั้งพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้า (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนเป็นที่มาของชื่อ “ถนนเจ้าฟ้า” ในปัจุบัน (ประทุม 2532 : 9)

        ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงงานผลิตเงินเหรียญแห่งใหม่ที่มีความทันสมัยโดยเลือกพื้นที่บริเวณริมคลองคูเมืองเดิมใกล้วัดชนะสงคราม ดังนั้น จึงต้องรื้อถอนพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวงหน้าที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ โดยพระราชทานเงินค่ารื้อถอนและสร้างวังใหม่ให้แก่เจ้านายทุกพระองค์เพื่อก่องสร้างโรงงานผลิตเหรียญดังกล่าว ซึ่งเมื่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระราชทานนามว่า “โรงกษาปณ์สิทธิการ” (ปทุม 2542 : 10)

          โรงกษาปณ์สิทธิการ สร้างขึ้นตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมตะวันตกโดย นายคาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri) สถาปนิกชาวอิตาเลียนประจำราชสำนักสยามเป็นผู้ออกแบบ (เพ็ญสุภา 2543 : 157) โดยได้แรงบันดาลใจจากโรงงานเครื่องจักรที่เมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ (ประทุม 2542 : 10) มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมคือ อาคารหลักด้านหน้าเป็นทรงปั้นหยา สูงสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องว่าว สองข้างอาคารหลักต่อเป็นปีกทอดยาว เป็นอาคารชั้นเดียวหักมุมฉากสี่ด้านบรรจบกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเชื่อมต่อกัน บริเวณสันหลังคา เชิงชายช่องบานประตู หน้าต่างประดับด้วยลวดลายฉลุไม้อย่างงดงม

           การก่อสร้างโรงงานกษาปณ์สิทธิการเสร็จสมบูรณ์และเริ่มดำเนินการผลิตเหรียญครั้งแรกในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 ใช้งานเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2511 กรมธนารักษ์ได้ย้ายไปสร้างโรงงานใหม่ โรงงานกษาปณ์สิทธิการจึงร้างลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ประทุม 2542 : 10-11)

         ในวาระครบรอบ 100 ปี  การพิพิธภัณฑ์ไทย (พ.ศ.2517)  กรมศิลปากร ได้ริเริ่มโครงการจัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานประเภทศิลปะสมัยใหม่ จึงได้เสนอขอใช้โรงกษาปณ์สิทธิการ เพื่อปรับปรุงให้เป็นหอศิลป ซึ่งกรมธนารักษ์ได้อนุมัติมอบหมายอาคารแห่งนี้ให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2517 เพื่อจัดตั้งเป็น “หอศิลปแห่งชาติ” โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปกรรมประเภททัศนศิลป์ของศิลปินผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและร่วมสมัย (จิรา 2532 : 67-68)

          พิพิธภัณฑ์ฑสถานแห่งชาติ หอศิลป  ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2520 จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นองค์อุปถัมภกและทรงสนับสนุนส่งเสริมงานด้านศิลปกรรมไทยทุกแขนง กรมศิลปากรจึงถือโอกาสในปีอันเป็นมหามงคลครบรอบ 72 พรรษาของพระองค์และเป็นปีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ได้ก่อตั้งมาครบรอบ 27 ปี ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับงานศิลปกรรมประเภททัศนศิลป์ในประเทศไทย ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจต่อไป  หลังจากนั้นไม่นานหอศิลปแห่งชาติได้ปิดปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อได้ตรงตามพระราชบัญญัติโบราณสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป” และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 (ประทุม 2542 : 13-14)

          ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2526 กรมธนารักษ์ได้มอบอาคารและที่ดินบางส่วนให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ทำให้มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นทั้งสามารถดำเนินการปรับปรุงขยายพื้นที่อาคารจัดแสดง เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ศิลปินตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้เข้าชมได้อย่างครบถ้วนตามหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ทางศิลปพระดับชาติดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ้างอิง : หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป  (Guide to The National Gallery, Bangkok)