ประวัติความเป็นมา

about TH 01

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ ตั้งอยู่ บริเวณด้านหลังหอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 นครราชสีมา ในบริเวณพื้นที่ของ วัดสุทธจินดา ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ภายนอกคูเมืองด้านทิศตะวันตก ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์

พระมหาวีรวง      

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา ได้มอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่รวบรวมไว้ให้กับกรมศิลปากร เมื่อพุทธศักราช 2470เพื่อศึกษาค้นคว้า จัดแสดง และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ดังพระดำริของท่านที่ว่า "พิพิธภัณฑ์เป็นลายลักษณ์ ห้องสมุดเป็นอักษร กุลบุตรผู้ที่จะมีดวงตาแจ่มใสคือปัญญา ย่อมต้องอาศัยลายลักษณ์และอักษร"

กรมศิลปากร จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้น ในพุทธศักราช 2497 และเปิดบริการให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2497 ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์” เพื่อถวายเกียรติแด่สมเด็จ พระมหาวีรวงศ์ ผู้เริ่มก่อตั้ง โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 178 ตอนที่ 94 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2504