ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส ตั้งอยู่ ณ วัด มัชฌิมาวาสวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกลาง ตำบล บ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นพิพิธภัณฑสถานที่เกิดขึ้นจากความใส่ใจและสนใจในการรักษาเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เริ่มจาก พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ซึ่งเป็นผู้มีความสนใจทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเป็นอันมาก ได้เก็บรวมรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในเขตอำเภอสทิงพระและเขตอำเภอใกล้เคียง และที่มีผู้นำมาถวายตั้งแต่ครั้งก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาจัดแสดงที่อาคารไม้หลังอาคารฤาษีดัดตน และจัดตั้งเป็นห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ของวัดมัชฌิมาวาส โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นครั้งแรกในงานวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2483 ถือเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ.2496 พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารศาลาการเปรียญเพื่อใช้เป็นที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์หลังใหม่แทนที่อาคารหลังเดิมที่ชำรุด และได้เรียกชื่อว่า ภัทรศีล์พิพิธภัณฑ์ และรับการยกฐานะให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุฯ เมื่อ พ.ศ.2504 มีชื่อเรียกในทางราชการ ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภัทรศีลสังวร” หรือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส”