- ชื่อโบราณวัตถุ :
- ใบเสมา ราหุลกุมารทูลขอขุมทรัพย์ทั้ง 4
- แบบศิลปะ :
- ทวารวดี
- ชนิด :
- หินทราย
- ขนาด :
- กว้าง 74 สูง 160 หนา 24 เซนติเมตร
- อายุสมัย :
- ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
- ลักษณะ :
- ลักษณะและรายละเอียด
- ลักษณะรูปทรงเป็นใบเสมาแบบแผ่นหินแบน สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ด้านบนสลักเป็นรูปทรงโค้งคล้ายกลีบบัว ยอดสอบแหลม บริเวณฐานสลักเป็นลายกลีบบัวหงายและเกสรบัวตลอดแนวความกว้างของใบเสมา สลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว องค์ประกอบของภาพสลักประกอบด้วยภาพบุคคล 2 คน บุคคลแรกเป็นภาพพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นประธานของภาพอยู่ในอิริยาบถประทับยืน พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระกรรณยาวจรดพระอังสา ครองจีวรห่มเฉียง มีประภามณฑลอยู่ด้านหลังพระเศียร พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระแสดงวิตรรกะมุทรา พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระคล้ายกำลังถือวัตถุทรงกลมบางอย่าง บุคคลที่ 2 อยู่ทางด้านขวามือเป็นภาพบุรุษ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรโปน พระโอษฐ์เล็กหนามีขมวดมุ่นมวยผมที่กลางศีรษะ ทรงพระภูษาสั้น ชายพลิ้วไหว ความสูงน้อยกว่าพระพุทธองค์ อยู่ในอิริยาบถกำลังยืนพนมมือ ใบหน้าเงยขึ้นเล็กน้อยลักษณะคล้ายกำลังเจรจากับพระพุทธองค์
- การวิเคราะห์ภาพ
- ทศพร ศรีสมาน ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพสลักบนใบเสมาแผ่นนี้และสันนิษฐานว่าเป็นภาพสลักเรื่องราวในพุทธประวัติ ตอน ราหุลกุมารทูลขอขุมทรัพย์ทั้ง 4 โดยบุคคลทางด้านซ้ายมือของภาพที่สลักภาพบุคคลครองจีวรห่อมเฉียง มีประภามณฑลที่ด้านหลังพระเศียร แสดงวิตรรกะมุทราหมายถึงพระพุทธเจ้า ส่วนบุคคลทางด้านขวามือของภาพมีความสูงน้อยกว่ากำลังยืนเงยหน้าขึ้นคล้ายกำลังเจรจากับพระพุทธองค์ น่าจะหมายถึงพระราหุลที่กำลังยืนเจรจากับพระพุทธองค์เพื่อทูลขอขุมทรัพย์ทั้ง 4 เพื่อนำไปใช้ในการครองราชสมบัติในอนาคตตามที่พระมารดารับสั่ง ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะรับสั่งให้พระสารีบุตรบรรพชาให้แก่ราหุลกุมารเป็นสามเณรในวันนั้นด้วยวิธีให้รับไตรสรณคมน์ ขณะมีอายุ 7 พรรษา สามเณรราหุลจึงได้ชื่อว่าเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศานา
- จากลักษณะการแต่งกายของบุคคลทางด้านขวาของภาพที่ขมวดมุ่นมวยผมกลางศีรษะ ไม่ได้แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูงในวรรณะกษัตริย์ กล่าวคือ ไม่ได้สวมศิราภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ ทั้งที่ในเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้กล่าวว่า นางยโสธราประดับตกแต่งองค์ให้พระราหุลแล้วสั่งให้ไปพบพระราชบิดาเพื่อทูลขอขุมทรัพย์ทั้ง 4 ในฐานะรัชทายาทผู้สืบสันตติวงศ์ และจากลักษณะที่พระพุทธเจ้าคล้ายทรงถือวัตถุวงกลมบางอย่างในพระหัตถ์ซ้าย จึงยังคงมีข้อสงสัยและมีข้อขัดแย้งว่าเป็นการสลักภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอน ราหุลกุมารทูลขอขุมทรัพย์ทั้ง 4 จริงหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนอื่นที่มีบุคคลในวรรณะอื่นถวายสิ่งของบางอย่างให้พระพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการและผู้ที่สนใจควรช่วยกันศึกษาวิเคราะห์และหาหลักฐานเพื่อใช้ในการอ้างอิงต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาในอนาคต
- ประวัติ :
- ได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
- สถานที่จัดแสดง :
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น