- ชื่อโบราณวัตถุ :
- ใบเสมาทรงพบโสตถิยพราหมณ์
- แบบศิลปะ :
- ทวารวดี
- ชนิด :
- หินทราย
- ขนาด :
- กว้าง 85 สูง 169 หนา 26 เซนติเมตร
- อายุสมัย :
- ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
- ลักษณะ :
- ลักษณะและรายละเอียด
- ใบเสมาแบบแผ่นหินแบน ด้านบนรูปทรงโค้งคล้ายกลีบบัว ส่วนฐานสลักเป็นลายกลีบบัวหงายและเกสรบัวเรียงตามแนวกว้างของใบเสมา มีภาพสลักที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว องค์ประกอบภาพ ประกอบด้วยรูปบุคคล 2 คน บุคคลที่ 1 อยู่ทางด้านขวามือของภาพ เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืน พระพักตร์กลม พระเนตรโปนเหลือบมองต่ำ พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสา ด้านหลังพระเศียรมีประภามณฑลเป็นรัศมีอยู่โดยรอบครองจีวรห่มเฉียง พระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกะมุทรา พระหัตถ์ซ้ายหงายและยกขึ้นในระดับพระอุระ บุคคลที่สองอยู่ทางด้านซ้ายมือของภาพ เป็นรูปบุรุษยืนความสูงน้อยกว่าพระพุทธองค์ ขมวดมุ่นมวยผมที่กลางศีรษะ นุ่งผ้าสั้นยกมือข้างซ้ายไว้เสมออก มือข้างขวาถือของบางอย่าง ลักษณะเป็นพวงยาวอิริยาบถคล้ายกำลังยืนเงยหน้าเจรจากับพระพุทธองค์ ด้านหลังสลักภาพต้นไม้เป็นฉากหลัง
- การวิเคราะห์เนื้อหา
- ทศพร ศรีสมาน ทำการศึกษาและวิเคราะห์ภาพสลักที่ปรากฏบนใบเสมาหินทรายแผ่นนี้และสันนิษฐานว่า สลักภาพเล่าเรื่องในพุทธประวัติ ตอน ทรงพบโสตถิยพราหมณ์ เนื่องจากปรากฏภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนแสดงวิตรรกะมุทรา มีประภามณฑลล้อมรอบพระเศียร ทางด้านซ้ายมือของภาพมีรูปบุคคลแต่งกายคล้ายพราหมณ์ยืนถือวัตถุที่มีลักษณะเป็นพวงยาวถวายแด่พระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าบุคคลนี้ คือ โสตถิยพราหมณ์ ภายหลังจากการลอยถาดของนางสุชาดาที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้ว ทรงเสด็จสวนทางกับคนตัดหญ้าผู้หนึ่งนามว่า โสตถิยพราหมณ์ ซึ่งถือหญ้าคาตามจำนวน 8 กำ เมื่อโสตถิยพราหมณ์พบกับพระพุทธองค์ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงได้ถวายหญ้าคาทั้ง 8 กำให้แก่พระพุทธองค์ ภาพต้นไม้ที่สลักอยู่ด้านหลังอาจแสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นในป่า
- แต่ยังมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับองค์ประกอบภายในภาพ เนื่องจากวัตถุที่บุคคลทางด้านซ้ายมือของภาพสันนิษฐานว่าเป็นโสตถิยพราหมณ์ถืออยู่ในมือยังไม่สามารถตีความได้ชัดเจนว่าเป็นหญ้าคา เนื่องจากมีลักษณะคล้ายพัดหรือแส้ที่ปลายเอียงไปด้านหนึ่ง อีกทั้งมีเพียง 1 ชิ้น นอกจากนี้ที่ด้านหลังพระเศียรของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏประภามณฑลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว จึงยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเป็นภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนทรงพบโสตถิยพราหมณ์จริงหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการและผู้ที่สนใจควรช่วยกันศึกษาวิเคราะห์และหาหลักฐานในการอ้างอิงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาต่อไปในอนาคต
- ประวัติ :
- ได้จากการขุดค้นที่เนินดินบริเวณโรงเรียนฟ้าแดดสูงยางวิทยาคม บ้านหนองแปน ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
- สถานที่จัดแสดง :
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น