- ชื่อโบราณวัตถุ :
- ใบเสมาพระอินทร์ถวายผลสมอ
- แบบศิลปะ :
- ทวารวดี
- ชนิด :
- หินทราย
- ขนาด :
- กว้าง 75 สูง 100 หนา 20 เซนติเมตร
- อายุสมัย :
- ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
- ลักษณะ :
- ลักษณะและรายละเอียด
- ลักษณะเป็นใบเสมาแบบแผ่นหิน ยอดโค้ง สภาพไม่สมบูรณ์ ส่วนล่างหักหายไป ส่วนบนมีร่องรอยหักบริเวณตอนกลางใบเสมา สลักภาพเล่าเรื่องที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว องค์ประกอบของภาพประกอบด้วยภาพบุคคล 2 คน บุคคลแรกเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน ขมวดพระเกศาทรงกลม พระพักตร์กลม พระเนตรโปนเหลือบมองต่ำ ครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกะมุทรา พระหัตถ์ซ้ายวางหงายคล้ายกำลังทรงถือวัตถุบางอย่าง ด้านหลังพระเศียรมีประภามณฑลทรงกลมปรากฏอยู่โดยรอบ บุคคลที่สองอยู่ถัดมาทางด้านขวามือของภาพเป็นรูปบุรีษทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ประทับยืนในตำแหน่งที่ต่ำกว่าพระพุทธองค์ สวมศิราภรณ์มงกุฎ กุณฑล กรองศอ พาหุรัดและทองกร นุ่งผ้าที่มีลวดลายและวิธีการนุ่งซับซ้อน พระหัตถ์ขวาทรงถทอวัตถุทรงกลมซึ่งอาจเป็นสิ่งของที่จะถวายแด่พระพุทธเจ้า
- การวิเคราะห์เนื้อหา
- ทศพร ศรีสมาน ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพสลักที่ปรากฏบนใบเสมาหินทรายแผ่นนี้และสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอน พระอินทร์ถวายผลสมอ เนื่องจากปรากฏภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนแสดงวิตรรกะมุทรา มีประภามณฑลทรงกลมอยู่ด้านหลังพระเศียรที่แสดงให้เห็นว่าเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ทางด้านขวามีบุคคลแต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง คือสวมศิราภรณ์มงกุฎ กรองศอ กุณฑล ในพระหัตถ์ขวาถือวัตถุทรงกลมบางอย่างถวายแด่พระพุทธองค์ ซึ่งอาจหมายถึงผลสมอทิพย์ เหตุการณ์พุทธประวัติตอนนี้มีดังนี้
- "เมื่อครบกำหนด 7 วันแล้ว จากนั้นพระพุทธองค์เสด็จไปยังต้นเกตุอันได้นามว่า "ราชาตนะ" ซึ่งอยู่ทางด้านทักษิณแห่งต้นศรีมหาโพธิ์เสวยวิมุตติสุข ณ ที่นี้เป็นสัปดาห์สุดท้าย เมื่อครบกำหนดแล้ว พระองค์ทรงออกจากสมาธิและประทับอยู่ ณ ที่นั้น ขณะสมเด็จพระอมรินทราธิราช ทรงมีดำริว่า "พระผู้มีพระภาคตั้งแต่ทรงตรัสรู้พระโพธิญาณแล้ว ประทับเสวยวิมุติสุขในสถานที่ 7 แห่ง แห่งละ 7 วัน สิริรวมระยะเวลา 49 วัน ถึงวันนี้พระองค์มิได้เสวยพระกระยาหารและถ่ายพระบังคน สมควรที่พระองค์จะเสวยพระกระยาหารและถ่ายพระบังคน" จึงนำผลสมออันเป็นทิพย์โอสถลงมาจากเทวโลกน้อมเข้าไปถวายพระพุทธองค์ ทรงรับผลสมอทิพย์นั้นมาเสวยแล้วทรงทำสรีรกิจลงบนพระบังคน แล้วท้าวสหัสนัยน์ก็อยู่ปฏิบัตติพระพุทธองค์ด้วยกิจต่างๆมีถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ พระโอสถ เป็นต้น"
- จากลักษณะบุคคลทางด้านขวามือที่แต่งกายคล้ายบุคคลชั้นสูงอาจหมายถึงกษัตริย์หรือพระอินทร์ ในพระหัตถ์ขวาถือวัตถุทรงกลมบางอย่างซึ่งอาจหมายถึงผลสมอทิพย์ จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอนที่พระอินทร์ลงมาปรมนิบัติและนำผลสมอทิพย์จากเทวโลกมาถวายแด่พระพุทธเจ้า ภายหลังจากที่ทรงตรัสรู้พระโพธิญาณและประทับเสวยวิมุติสุข ณ สถานที่ 7 แห่ง รวมระยะเวลา 49 วัน
- ใบเสมาใบนี้เป็นใบเสมาสลักภาพพุทธประวัติ 1 ใน 4 ที่ขุดพบภายในบริเวณโรงเรียนฟ้าแดดสูงยางวิทยาคม บ้านหนองแปน ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
- ประวัติ :
- ได้จากการขุดค้นที่เนินดินบริเวณโรงเรียนฟ้าแดดสูงยางวิทยาคม บ้านหนองแปน ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
- สถานที่จัดแสดง :
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น