- ชื่อโบราณวัตถุ :
- ใบเสมาพิมพาพิลาป
- แบบศิลปะ :
- ทวารวดี
- ชนิด :
- หินทราย
- ขนาด :
- กว้าง 84 สูง 174 หนา 25 เซนติเมตร
- อายุสมัย :
- ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
- ลักษณะ :
- ลักษณะและรายละเอียด
- ลักษณะรูปทรงเป็นใบเสมาแบบแผ่นแบน สภาพชำรุด หักเป็นสองท่อนต่อไว้ ด้านบนสลักเป็นรูปทรงโค้งคล้ายกลีบบัว ยอดสอบแหลม บริเวณฐานสลักเป็นลายกลีบบัวคว่ำ กลีบบัวหงายและเกสรบัวตลอดแนวความกว้างของใบเสมา สลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ด้านหลังจำหลักแนวสันแกนนูนจากส่วนฐานถึงส่วนยอด ภาพสลักแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านล่างของใบเสมาจำหลักเป็นภาพกำแพงเมือง มีซุ้มประตูทรงปราสาทซ้อนกัน 3 ชั้น ด้านข้างประตูทั้งสองข้างมีภาพบุรุษยืนถืออาวุธประจำอยู่ด้านละ 2 คน ด้านบนของใบเสมาจำหลักภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่ภายในซุ้มลักษณะคล้ายอาคารเครื่องไม้มีประภามณฑลอยู่ด้านหลังพระเศียร ด้านขวามีบุรุษนั่งชันเข่าแสดงท่าสำรวมจำนวน 2 คนที่นั่งอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าสวมมงกุฎยอดแหลมแสดงถึงวรรณะสูง ด้านซ้ายเป็นภาพสตรี 2 คน สตรีคนที่นั่งอยู่ใกล้กับพระพุทธเจ้านั่งพับเพียบกำลังสยายเกศารองรับพระบาทของพระพุทธองค์ สตรีนางหนึ่งอุ้มเด็กที่กำลังชี้นิ้วไปที่พระพุทธองค์มีพานบูชาอยู่หน้าพระพุทธองค์
- การวิเคราะห์ภาพ
- จากองค์ประกอบของภาพเล่าเรื่องที่ปรากฏบนใบเสมาแผ่นนี้เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า เป็นภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอน พิมพาพิลาป เนื่องจากปรากฏภาพบุคคลทรงครองจีวรห่มเฉียง มีประภามณฑลอยู่ด้านหลังพระเศียรประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า ทางด้านขวามีสตรี 1 คน กำลังสยายผมรองรับพระบาทของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าหมายถึงนางยโสธราหรือพิมพา และสตรีอีกนางหนึ่งกำลังอุ้มเด็กที่กำลังชี้นิ้วไปยังพระพุทธองค์ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระราหุล ทางด้านซ้ายมือของภาพมีภาพบุรุษ 2 คน สวมศิราภรณ์มงกุฎและเครื่องประดับนั่งอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นพระเจ้าสุทโธทนะ ฉากด้านหลังเป็นภาพซุ้มอาคารและมีภาพกำแพงเมืองอยู่ทางตอนล่างของภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเมืองจากองค์ประกอบทั้งหมดจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอนพิมพาพิลาป ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จไปเทศนาโปรดพระนางยโสธราหรือนางพิมพาที่พระตำหนักพระนางยโสธราได้แสดงความเคารพอย่างสูงด้วยการสยายพระเกศารองรับพระบาท โดยมีพระเจ้าสุทโธทนะและพระราหุลที่พบพระราชบิดาเป็นครั้งแรกอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้มีเนื้อความโดยสรุปดังนี้
- "ภายหลังพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะปรารถนาจะพบพระพุทธเจ้า จึงส่งอำมาตย์พร้อมบริวารไปกราบทูลอาราธนาเพื่อให้เสด็จกลับคืนสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ถึง 10 ครั้ง จากนั้นพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์ 20,000 รูป จึงเสด็จมาสู่กรุงกบิลพัสดุ์และประทับอยู่ ณ พระอุทยานแห่งนิโครธศากยราชบุตร เมื่อพระองค์และพระสงฆ์ออกบิณฑบาตตามประเพณีของพุทธวงศ์ชาวเมืองต่างส่งเสียงอื้ออึง เมื่อนางยโสธราเห็นดังนั้นจึงรีบกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะ พระองค์จึงรีบเสด็จไปห้ามปราม หลังจากพระพุทธเจ้าทรงอธิบายและแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะจึงเข้าใจและบรรลุโสดาปัตติผล จากนั้นจึงทูลเชิญพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์ไปฉันภัตตราหารภายในพระราชวัง พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระประยูรญาติที่เข้าเฝ้า ยกเว้นนางยโสธราและพระโอรสราหุลที่ไม่ได้เสด็จมาเข้าเฝ้า จนกระทั่ง 3 วันผ่านไป พระเจ้าสุทโธทนะจึงอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปที่พระตำหนักของนางยโสธรา เมื่อพระนางยโสธราพร้อมด้วยพระโอรสราหุลได้พบหน้าพระสวามี จึงแสดงความเศร้าโศกรำพันที่พระพุทธเจ้าทอดทิ้งไปพร้อมเกลือกกลิ้งพระเกศาบนหลังพระบาทของพระพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะจึงกล่าวพรรณนาถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์มากเพียงใดจึงทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาเพื่อกำจัดความเศร้าโศกของนางยโสธรา จนพระนางเกิดปิติปราโมทย์บรรลุพระโสดาปัตติผล จากนั้นจึงถวายอภิวาทพระยุคลบาทพระพุทธเจ้าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จนำหมู่ภิกษุสงฆ์กลับคืนสู่พระนิโครธารามวิหาร"
- แม้ในสมัยหลังภาพเหตุการณ์ในตอนนี้ยังคงปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถของวัดหลายแห่ง เช่น อุโบสถวัดดุสิตาราม พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ และบนตู้พระธรรมลายรดน้ำของหอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
- ประวัติ :
- ได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
- สถานที่จัดแสดง :
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น