- ชื่อโบราณวัตถุ :
- ใบเสมาทรงโปรดพระเจ้าพิมพิสาร
- แบบศิลปะ :
- ทวารวดี
- ชนิด :
- หินทราย
- ขนาด :
- กว้าง 74 สูง 156 หนา 24 เซนติเมตร
- อายุสมัย :
- ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
- ลักษณะ :
- ลักษณะและรายละเอียด
- ลักษณะรูปทรงใบเสมาแบบแผ่นหินแบน สภาพสมบูรณ์ ด้านบนสลักเป็นรูปทรงโค้งคล้ายกลีบบัว ยอดสอบแหลม บริเวณฐานสลักเป็นลายกลีบบัวคว่ำ กลีบบัวหงายและเกสรบัวตลอดแนวความกว้างของใบเสมา สลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว องค์ประกอบของภาพประกอบด้วย กลุ่มบุคคล 4 คน บุคคลที่ 1 เป็นประธานของภาพสลักภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิราบบนบัลลังก์มีอาสนะคล้ายรูปดอกบัวปูรองรับพระพักตร์ค่อนข้างกลมขมวดพระเกศาใหญ่ พระเนตรเหลือบมองต่ำ พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสา ทรงครองจีวรห่มเฉียง พระหัตถ์ยกขึ้นเสมอพระอุระแสดงวิตรรกะมุทรา พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา มีประภามณฑลทรงกลมอยู่เบื้องหลังพระเศียรและปรากฏเส้นโค้งคล้ายประภาวลี โดยรอบพระวรกาย ถัดลงมาทางด้านซ้ายมือของภาพเป็นรูปกลุ่มบุคคล 3 คน อยู่ในอิริยาบถนั่งอยู่ในระดับต่ำกว่าพระพุทธเจ้า บุคคลแรกเป็นบุคคลนั่งอยู่ใกล้พระพุทธองค์ อยู่ในอิริยาบถนั่งพนมมือหันหน้ามาทางบุคคลที่นั่งอยู่ทางด้านขวามือของตนคล้ายกำลังเจรจามีขมวดมุ่นมวยผมอยู่กลางศีรษะ สวมต่างหูทรงกลม ตาโปน จมูกใหญ่ บุคคลที่ 2 เป็นบุรุษ สวมศิราภรณ์ทรงมงกุฎ สวมกุณฑล กรองศอ พาหุรัด และทองกร จากเครื่องแต่งกายแสดงถึงฐานันดรว่าเป็นบุคคลชนชั้นสูงในวรรณะกษัตริย์เงยพระพักตร์ขึ้นเล็กน้อย ประทับนั่งแสดงความเคารพโดยการคุกเข่าบนส้นพระบาท ยกเข่าซ้ายขึ้น พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นแตะข้อศอกขวา พระหัตถ์ขวาเหยียดยาววางพาดบนต้นขาขวา และบุคคลที่ 3 สันนิษฐานว่าเป็นสตรีอยู่ในอิริยาบถนั่ง สวมศิราภรณ์มงกุฎ สวมกุณฑล กรองศอและทองกรจากเครื่องแต่งกายแสดงฐานันดรว่าเป็นบุคคลชนชั้นสูงในวรรณะกษัตริย์ พระหัตถ์ขวายกวัตถุด้ามยาวขึ้นในระดับพระอุระ ฉากด้านหลังพระพุทธเจ้าสลักภาพซุ้มลักษณะคล้ายอาคารเครื่องไม้และมีต้นไม้อยู่ด้านหลัง
- การวิเคราะห์ภาพ
- ทศพร ศรีสมาน ทำการวิเคราะห์ใบเสมาแผ่นนี้และสันนิษฐานว่าน่าจะสลักภาพเรื่องราวในพุทธประวัติภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ตอนทรงโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เนื่องจากในองค์ประกอบภาพปรากฏภาพบุคคลครองจีวรห่มเฉียง ด้านหลังมีประภามณฑลทรงกลม ประทับนั่งขัดสมาธิราบและแสดงวิตรรกะมุทราซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า และมีบุคคลในวรรณะกษัตริย์และเสนาอำมาตย์กำลังเข้าเฝ้าแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า ลักษณะอิริยาบถของอามาตย์แสดงอาการไม่สงบนิ่งและมองมายังกษัตริย์ เหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้กล่าวไว้ว่า
- "หลังจากพระเจ้าพิมพิสารทรงกราบนมัสการพระพุทธองค์แล้วประทับในที่อันควรแล้ว ส่วนข้าราชบริพารนั้นแสดงอาการต่างๆ คือบางพวกถวายบังคม บางพวกกล่าวปราศรัย บางพวกพนมมือ" เนื่องจากมีความสงสัยว่าระหว่างพระสมณโคดมกับอุรุเวลกัสสปะใครเป็นศิษย์ใครเป็นอาจารย์ เป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวก เศด็จสู่กรุงราชคฤห์ในแคว้นมคธเพื่อปลดเปลื้องพระปฏิญญาที่ประทานแด่พระเจ้าพิมพิสารในคราวเสด็จออกบรรพชาใหม่ๆ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบข่าวจึงเสด็จไปเข้าเฝ้าพร้อมด้วยข้าราชบริพาร พราหมณ์และคหบดี ณ สวนลัฏฐิวันหรือสวนตาลหนุ่มที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกประทับอยู่"
- จากลักษณะองค์ประกอบภาพที่สลักภาพซุ้มอาคารเครื่องไม้อยู่ด้านหลังพระพุทธเจ้าทำให้ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในป่า เนื่องจากการสลักภาพโครงสร้างอาคารเครื่องไม้เป็นฉากด้านหลังช่างอาจพยายามแสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมือง อีกทั้งไม่ปรากฏภาพบุคคลอื่น เช่นอุรุเวลกัสสปะภายในภาพ เมื่อทำการศึกษาเรื่องราวในพุทธประวัติพบว่า ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มีบุคคลในวรรณะกษัตริย์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จไปยังเมืองต่างๆ จึงยังมีข้อสงสัยและมีข้อขัดแย้งว่าเป็นการสลักภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอน ทรงโปรดพระเจ้าพิมพิสารจริงหรือไม่ นอกจากนี้ใบเสมาใบนี้ยังมีการสลักภาพพระรัศมีทรงกลมล้อมรอบพระวรกายของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่ปรากฏในใบเสมาใบอื่นจึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการและผู้ที่สนใจควรช่วยกันศึกษาวิเคราะห์และหาหลักฐานในการอ้างอิงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาต่อไปในอนาคต ใบเสมาใบนี้เป็นใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่อง 1 ใน 3 ใบ ที่พบภายในหลุมขุดตรวจในโบราณสถานแห่งที่ 2 ภายในบริเวณโรงเรียนฟ้าแดดสูงยางวิทยาคม บ้านหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
- ประวัติ :
- ได้จากการขุดค้นที่เนินดินบริเวณโรงเรียนฟ้าแดดสูงยางวิทยาคม บ้านหนองแปน ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
- สถานที่จัดแสดง :
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น