- ชื่อโบราณวัตถุ :
- ใบเสมาเวชสันดรชาดก
- แบบศิลปะ :
- ทวารวดี
- ชนิด :
- หินทราย
- ขนาด :
- กว้าง 80 สูง 150 หนา 24 เซนติเมตร
- อายุสมัย :
- ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
- ลักษณะ :
- ลักษณะและรายละเอียด
- เป็นใบเสมาแบบแผ่นหินแบน สภาพชำรุด ส่วนยอดหักหายไป ภาพค่อนข้างเลือน ตอนล่างของใบเสมาสลักรูปกลีบบัวคว่ำ กลีบบัวหงาย และเกสรบัวตลอดแนวความกว้างของใบเสมา มีภาพสลักอยู่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว เป็นภาพกลุ่มบุคคล 4 คน บุคคลที่ 1 อยู่ทางด้านซ้ายมือของภาพ เป็นภาพบุรุษนั่งอยู่ในท่ามหาราชลีลาบนบัลลังก์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่ที่พระเพลาซ้าย สวมศิราภรณ์ทรงสูงรูปทรงสามเหลี่ยมยอดแหลม สวมกุณฑลทรงกลมและกรองศอ มีประภามณฑลอยู่รอบพระเศียร และมีประภาวลีทรงกลมอยู่รอบพระวรกาย ลักษณะคล้ายกำลังเจรจาอยู่กับบุคคลที่ 2 ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือของภาพเป็นภาพสตรี นั่งพับเพียบบนแท่นรูปทรงสี่เหลี่ยมอยู่ในระดับต่ำกว่า บริเวณศีรษะมีร่องรอยสลักคล้ายศิราภรณ์ทรงสูงแต่ไม่ชัดเจน ถัดลงมาสลักเป็นภาพบุคคล 2 คน นอนเคียงกันบนแท่นรูปทรงสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายเด็กแต่งกายคล้ายกันสวมศิราภรณ์มงกุฎใช้มือซ้ายหนุนศีรษะ มือขวาวางแนบไปตามลำตัว แต่ไมาสามารถกำหนดเพศได้ชัดเจน ด้านหลังสลักภาพลักษณะคล้ายสิ่งก่อสร้างหรืออาคาร ซึ่งอาจจะสื่อความหมายว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเมือง
- การวิเคราะห์เนื้อหา
- พิริยะ ไกรฤกษ์ ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาแผ่นนี้และสันนิษฐานว่า น่าจะสลักภาพเล่าเรื่องชาดกในพระพุทธศสนา เรื่อง เวสสันดรชาดก เป็นเหตุการณ์ตอนที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทรงเจรจาความถึงเรื่องที่ชาวเมืองโกรธแค้นและต้องการขับไล่พระองค์ออกจากเมือง ทรงคิดที่จะออกผนวช เมื่อพระนางมัทรีได้ทราบความก็มีประสงค์จะขอตามเสด็จพร้อมด้วยพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ โดยวิเคราะห์ว่าภาพบุคคลที่มีลักษณะคล้ายเด็ก 2 คน นอนอยู่ทางตอนล่างของภาพ น่าจะเป็นพระกัณหาและพระชาลี ส่วนภาพบุคคลตอนบนประทับนั่งบนบัลลังก์แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูงอยู่ทางด้านซ้ายมือของภาพน่าจะหมายถึงพระเวสสันดร ส่วนบุคคลทางด้านขวามือของภาพที่เป็นภาพสตรีแต่งกายแบบบุคคลชั้นสูงน่าจะหมายถึงพระนางมัทรี เหตุการณ์ในชาดกเรื่องนี้มีดังนี้
- "พระเวสสันดรเป็นพระโอรสของพระเจ้าสัญชัยกับพระนางผุสดีแห่งนครสีพีรัฐบุรี ทรงฝักใฝ่การบริจาคทานมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อพระชนมพรรษาครบ 16 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางมัทรีมีพระราชโอรสและพระราชธิดานาม พระชาลีกุมารและพระกัณหากุมารี ต่อมาเมืองกาลิงครัฐเกิดฝนแล้ง เจ้าเมืองกาลิงครัฐจึงส่งพราหมณ์มาทูลขอช้างปัจจัยคเชนทร์ช้างคู่บ้านคู่เมือง พระเวสสันดรก็ทรงบริจาคให้ ส่งผลให้ชาวเมืองสีพีโกรธแค้นจึงทูลขอให้พระเจ้าสัญชัยทรงพิจารณาโทษให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากพระนคร พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระโอรสและพระธิดาจึงเสด็จมุ่งสู่เขาวงกตและทรงผนวชเป็นนักบวชเพื่อบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า ชูชกพราหมณ์เฒ่าขอทานชาวเมืองกาลิงครัฐ มีภรรยาสาวสวยชื่อนางอมิตตา เนื่องจากภรรยาของเหล่าพราหมณ์อิจฉาจึงถูกว่ากล่าวเสียดสีจนนางเดือดร้อนจึงขอร้องให้ชูชกไปทูลขอพระโอรสและพระธดาจากพระเวสสันดรมาเป็นทาสรับใช้ ชูชกจึงเดินทางไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดรขณะที่พระนางมัทรีออกไปหาผลไม้ พระเวสสันดรจึงได้บำเพ็ญทานอันยิ่งใหญ่ คือ บุตรทาน พระอินทร์เกรงว่าต่อไปอาจมีผู้คิดร้ายขอพระนางมัทรีจึงแปลงกายเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ทรงยินดีถวายให้ พระอินทร์เห็นน้ำพระทัยอันเลิศล้ำของพระเวสสันดรจึงตรัสสรรญเสริญทานบารมีพร้อมถวายองค์มัทรีคืนให้ ฝ่ายชูชกเดินทางรอนแรมในป่าฉุดลากสองกุมารระหกระเหินถึงทางสองแพร่งจึงเดินมุ่งสู่นครสีพี พระเจ้าสัญชัยจึงไถ่ตัวราชนัดดาทั้งสองจากชูชกแล้วพระราชทานรางวัลและอาหารรสเลิศมาให้ชูชก ชูชกดื่มกินไม่หยุดจนท้องงแตกตาย พระเจ้าสัญชัยและพระนางผุสดีจึงโปรดให้จัดขบวนเกียรติยศไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับคืนสู่พระนคร ต่อมาพระเวสสันดรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงปกครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรมและทรงบริจาคทานตราบจนสิ้นพระชนมายุ"
- พระเวสสันดรชาดกเป็นมหาชาติที่ได้รับควานิยมมากจึงพบหลักฐานงานจิตรกรรมในเรื่องนี้จำนวนมาก ทั้งที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนัง ผ้าพระบฏ ผ้าพระเวส สมุดข่อยและตู้พระธรรมลายรดน้ำ แต่ภาพในลักษระเดียวกับภาพสลักบนใบเสมาแผ่นนี้พบน้อย อาจเนื่องมาจากนิยมวาดภาพในเหตุการณ์ที่สำคัญเหตุการณ์อื่นมากกว่า
- ประวัติ :
- ได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
- สถานที่จัดแสดง :
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น