bai sema 04icon zoom 

ชื่อโบราณวัตถุ :
ใบเสมาทรงพบพญานาคมุจลินทร์
แบบศิลปะ :
ทวารวดี
ชนิด : 
หินทราย
ขนาด :
กว้าง 84 สูง 174 หนา 25 เซนติเมตร
อายุสมัย :
ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
ลักษณะ :
ลักษณะและรายละเอียด
     ลักษณะเป็นใบเสมาแผ่นหินแบน ด้านบนรูปทรงโค้งคล้ายกลีบบัว ส่วนฐานสลักเป็นลายกลีบบัวหงายและเกสรบัวเรียงตามแนวกว้างของใบเสมา แกนเดือยหินที่ส่วนล่างสุดชำรุดหักหายไป ด้านหน้าของใบเสมาสลักภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิหลวมๆ บนขนดนาค 4 ชิ้น ด้านบนสุดสลักเป็นภาพเศียรนาค 5 เศียร แผ่พังพานอยู่เหนือประภามณฑลของพระพุทธองค์เหนือเศียรนาคสลักเป็นรูปต้นไม้ในกรอบรูปทรงทรงสามเหลี่ยม ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรโปนและเหลือบมองต่ำ พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวเกือนจรดพระอังสา มีประภามณฑลเป็นวงกลมล้อมรอบพระเศียร ทรงครองจีวรห่มเฉียง พระอังสาซ้ายคล้ายสลักชายจีวรวางพาดอยู่บริเวณบั้นพระองค์สลักเป็นสันนูนคล้ายขอบสบงหรือรัดประคดที่คาดอยู่ใต้จีวร ทรงยกพระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกะมุทรา พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา ด้านล่างสลักภาพบุคคล 2 คน กำลังแสดงความเคารพต่อพระพุทธองค์ บุคคลที่ 1 อยู่ทางด้านขวามือของภาพ ยังระบุไม่ได้่ว่าเป็นภาพบุรุษหรือสตรี ชันเข่าขวา ขาซ้ายพับราบกับพื้น มือขวาพับแตะข้อศอกซ้ายแขนซ้ายวางเหยียดตรงลงบนต้นขาซ้าย สวมศิราภรณ์มงกุฏรูปทรงสามเหลี่ยม สวมกุณฑล กรองศอ พาหุรัดและทองกร จากลักษณะการแต่งกายแสดงว่าเป็นบุคคลชนชั้นสูง บุคคลที่ 2 อยู่ทางด้านซ้ายมือของภาพ อยู่ในอิริยาบถนั่งคุกเข่าบนส้นเท้าในระดับต่ำกว่าเล็กน้อย โดยยกเข่าซ้ายขึ้น พนมมืออยู่ระหว่างอกขมวดมุ่นมวยผมที่กลางศรีษะ ไม่มีเครื่องประดับศรีษะ สวมกุณฑลจากลักษณะเครื่องประดับและตำแหน่งในภาพ แสดงให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่ต่ำศักดิ์กว่าบุคคลเบื้องซ้าย
การวิเคราะห์ภาพ
     อรุณศักดิ์ กิ่งมณี ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาแผ่นนี้และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพเล่าเรื่องในพุทธประวัติ ตอน ทรงพบพญานาคมุจลินทร์ เนื่องจากปรากฏภาพพระพุทธเจ้าครองจีวรห่มเฉียงมีประภามณฑลอยู่ด้านหลังพระเศียรประทับนั่งบนขนดนาค 4 ชิ้น แผ่พังพานเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า ปรากฏภาพบุคคลอยู่ด้านล่างของภาพบุคคลทางด้านซ้ายมือของภาพแต่งกายคล้ายพราหมณ์ขมวดมุ่นมวยผมอยู่กลางศีรษะนุ่งผ้าสั้น สันนิษฐานว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องตอนที่พญานาคแปลงกายเป็นพราหมณ์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าบุคคลทางด้านขวามือของภาพหมายถึงผู้ใด ต่อมาทศพร ศรีสมาน ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาแผ่นนี้และสันนิษฐานว่าเป็นภาพเล่าเรื่องในพุทธประวัติตอนทรงพบพญานาคมุจลินทร์เช่นเดียวกัน แต่วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า บุคคลทางด้านขวามือของภาพที่แต่งกายแบบบุคคลสูงศักดิ์อาจหมายถึงเทพหรือเทวดาที่มักมาเข้าเฝ้าภายหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว
     เนื่องจากปรากฏภาพบุคคล 2 คน อยู่ทางตอนล่างของภาพ จึงยังมีข้อขัดแย้งและข้อสงสัยว่า เป็นภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอน ทรงพบพญานาคมุจลินทร์จริงหรือไม่ แม้เหตุการณ์พุทธประวัติในตอนนี้กล่าวว่า "ภายหลังอากาศปลอดโปร่งปราศจากฝนแล้ว พญานาคจึงคลายขนดจากพระวรกายของพระพุทธเจ้าแล้วแปลงกายเป็นมนุษย์มาณพน้อยมาถวายอัญชลีทางเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า" แต่การปรากฏภาพทั้งพญานาคมุจลินขณะกำลังแผ่พังพานและภาพบุคคลแต่งกายคล้ายพราหมณ์ในเวลาเดียวกันจึงมีความเป็นไปได้น้อยว่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน อีกทั้งบุคคลสูงศักดิ์ที่ประทับนั่งแสดงความเคารพอยู่ตอนล่างทางด้านขวามือของภาพยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าหมยาถึงผู้ใด จึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าเป็นภาพพุทธประวัติในเรื่องใด จึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการและผู้ที่สนใจควรช่วยกันศึกษาวิเคราะห์และหาหลักฐานในการอ้างอิงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาต่อไปในอนาคต
ประวัติ :
จากการขุดค้นที่เนินดินบริเวณโรงเรียนฟ้าแดดสูงยางวิทยาคม บ้านหนองแปน ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
สถานที่จัดแสดง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

z bai sema 01
icon zoom 2