ประวัติความเป็นมา

about TH 01

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร เป็นพิพิธภัณฑสถานที่ก่อตั้งขึ้นโดยดำริของผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายประยูร พรหมพันธ์) เมื่อราว พุทธศักราช 2537 โดยจังหวัดชุมพร ได้มอบที่ดินให้กับกรมศิลปากร เพื่อใช้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน จำนวน 7 ไร่ กรมศิลปากร โดยอธิบดีกรมศิลปากร ณ ขณะนั้น (นายสมคิด โชติกวณิชย์) จึงได้ดำเนินการกำหนดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง ของคณะรัฐมนตรี ที่มุ่งหมายจะกระจายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ออกไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อขยายโอกาสด้านการศึกษาเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาพื้นบ้านท้องถิ่น ให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกระบบ
การดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ตลอดจนการจัดทำสื่อจัดแสดง และการติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ดำเนินการระหว่างปีงบประมาณ 2538 - 2540 โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 54,596,000 บาท
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ได้ประกาศกำหนดสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนที่ 104ง ลงวันที่ 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2541 และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ โดยสมเด็จพระเทพรัตนฯ ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร เมื่อวันที่ 30 เมษายน พุทธศักราช 2542

about TH 02

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร เป็นอาคาร 2 ชั้น มีลักษณะของการผสมผสานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้และสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเข้าด้วยกัน ทำให้มีลักษณะโดดเด่น และทันสมัย ภายในประกอบด้วยห้องจัดนิทรรศการถาวร ห้องสมุด ห้องประชุม ห้องอเนกประสงค์ สำนักงาน คลังเก็บโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ร้านจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก