|
นิทรรศการถาวรจากอดีตสู่ปัจจุบัน |
รูปแบบของการจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ที่เรียกว่า “นิทรรศการถาวร” จากอดีตสู่ปัจจุบัน มีพัฒนาการ ดังนี้
|
พุทธศักราช 2516 ก่อนพุทธศักราช 2539 |
การจัดแสดงแบ่งได้ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 บริเวณอาคารชั้นล่าง และส่วนที่ 3 บริเวณอาคารชั้นบน |
ส่วนที่ 1 จัดแสดงเรื่องโบราณคดีและประวัติศาสดตร์ศิลปะอันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในดินแดนประเทศไทย พร้อมตัวอย่างโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตามลำดับ อายุสมัยและรูปแบบศิลปะ ได้แก่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะเชียงแสนหรือล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอู่ทอง ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่ย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร |
ส่วนที่ 2 เน้นความสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในภาคเหนือ จึงได้แสดงประติมากรรมสกุลช่างภาคเหนือเป็นพิเศษซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปพระพิมพ์และเครื่องพระพุทธบูชา มีทั้งทำด้วยดินเผา สำริด หินและโลหะมีค่า ได้แก่สกุลช่างหริภุญไชย สกุลช่างเชียงแสนหรือล้านนา สกุลช่างพะเยา รวมทั้งงานประณีตศิลป์ เช่น ไม้จำหลัก (ไม้แกะสลักลาย) ตู้พระธรรม รอยพระพุทธบาทประดับมุก เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเผาโบราณ อาทิ เตาเวียงกาหลง เตาสันกำแพง เตาพาน และเตาวังเหนือ เป็นต้น |
ส่วนที่ 3 จัดแสดงศิลปะพื้นบ้านและวัตถุทางชาติพันธุ์วิทยา เช่น ศิลปวัตถุของเจ้านายฝ่ายเหนือ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงวัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของคน เมืองเหนือที่เรียกว่า "ไทยวน" และกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม อาทิ เครื่องมือทำนา เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องครัว เครื่องทอผ้า ผ้าและการแต่งกาย เป็นต้น |
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงกลางแจ้งภายนอกอาคาร คือ เตาเผาเครื่องถ้วย แหล่งเตาวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และเตาเผาเครื่องถ้วยแหล่งเตาพาน (โป่งแดง) อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
|
พุทธศักราช 2542 ถึง ก่อนพุทธศักราช 2556 |
ช่วงพุทธศักราช 2539 - 2542 การจัดแสดงนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้รับการซ่อมแซม ปรับปรุง และเพิ่มเติมเนื้อหาสาระวิชาการให้หลากหลายสาขายิ่งขึ้นในลักษณะของพิพิธภัณฑสถานประจำเมือง / จังหวัด / ภูมิภาค โดยเน้นความสำคัญของอาณาจักรล้านนาและนครเชียงใหม่ รวมทั้งความเป็นเอกลักษณ์ / อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมภาคเหนือ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ อาคารชั้นล่าง จัดแสดงส่วนที่ 1 - 3 และอาคารชั้นบนจัดแสดงส่วนที่ 4 - 6 |
ส่วนที่ 1 แสดงภูมิหลังแผ่นดินล้านนาเป็นเรื่องราวทางธรณีวิทยา และชีวิตดึกดำบรรพ์ ภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมภาคเหนือ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ รวมไปถึงเรื่องราวของชนเผ่าลัวะ และหริภุญไชย รัฐแรกในภาคเหนือ |
ส่วนที่ 2 แสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนา เริ่มจากการสถาปนานครเชียงใหม่ ความรุ่งเรืองและความเสื่อมของอาณาจักร |
ส่วนที่ 3 แสดงเรื่องราวของนครเชียงใหม่ใต้ร่มอาณาจักรสยามตั้งแต่การกอบกู้เอกราชจากพม่า การตั้งเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่พุทธศักราช 2339 และความสัมพันธ์กับอาณาจักรสยาม |
ส่วนที่ 4 แสดงเรื่องการค้า และเศรษฐกิจระยะแรก ระหว่างพุทธศักราช 2339 - 2463 และระยะที่สอง ระหว่างพุทธศักราช 2467 - 2482 เมื่อมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ |
ส่วนที่ 5 แสดงเรื่องราวการดำรงชีวิตและพัฒนาการทางสังคม เช่น การเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การเงินการธนาคาร ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมถึงการศึกษาและการสาธารณสุข |
ส่วนที่ 6 แสดงถึงวิวัฒนาการของศิลปกรรมล้านนา และศิลปกรรมในประเทศไทย |
นอกจากแผนที่ แผนผัง แผนภูมิ ภาพถ่าย ป้ายคำบรรยายและป้ายคำอธิบายวัตถุที่ใช้เป็นสื่อจัดแสดงระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ และผู้เข้าชมแล้ว การปรับปรุงนิทรรศการถาวรครั้งนี้ ยังได้เพิ่มเติมและเทคนิคและสื่อการจัดแสดงหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การจำลองหลุดขุดค้นทางโบราณคดี ภาพเขียนเล่าเรื่อง ภาพเขียนประกอบหุ่นจำลองบุคคลและเหตุการณ์สำคัญพร้อมเสียงบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การใช้ตู้จัดแสดงภาพโปร่งแสงขนาดใหญ่ การแสดงเรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนิทรรศการผ่านระบบคอมพิวเตอร์แบบสัมผัสหน้าจอ
|
พุทธศักราช 2560 ปัจจุบัน |
ช่วงพุทธศักราช 2556 - 2559 มีการปรับปรุงนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ทั้งหมดอีกครั้งโดยเพิ่มเติมรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมของล้านนาเพื่อให้สอดคล้องเท่าทันความก้าวหน้าทางวิชาการปัจจุบัน ส่วนจดแสดงเดิมที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา ถูกลดระดับความสำคัญลงไป เนื่องจากมีพิพิธภัณฑสถานเฉพาะสาขาวิชาดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และเพื่อพัฒนาให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ศูนย์กลางการศึกษา อนุรักษ์ และให้บริการข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบนอย่างชัดเจน |
การปรับปรุงนิทรรศการครั้งใหม่นี้ เน้นความงามของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยให้ความสำคัญกับการออกแบบครุภัณฑ์ เช่น ตู้ ชั้น แท่นฐาน และแผงจัดแสดง การใช้สี การจัดวาง และการจัดแสง และเพิ่มการให้บริการข้อมูลนำชมพิพิธภัณฑสถาน และข้อมูลรายละเอียดของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงด้วยสื่อมัลติมีเดีย และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัย เช่น ระบบ QR/AR CODE ระบบไดโอรามาจำลองภาพสามมิติ พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) |
นิทรรศการที่ปรับปรุงใหม่ครั้งนี้ ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงทั้งหมด 16 ห้อง |
อาคารชั้นบน จำนวน 8 ห้อง จัดแสดงเรื่องราวการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำรวจศึกษาและขุดค้นพบในเขตพื้นที่ ภาคเหนือตอนบนกว่า 100 แหล่ง ที่สำคัญ อาทิ ในอำเภอแม่ทะ แหล่งประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดเชียงใหม่ บ้านวังไฮ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นต้น |
สมัยประวัติศาสตร์ล้านนาเริ่มจากการปรากฏของแคว้นหริภุญไชย ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในแอ่งที่ราบเชียงใหม่ - ลำพูน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 จนกระทั่งพญามังรายแห่งแคว้นโยนกจากแอ่งที่ราบเชียงราย - เชียงแสน ขยายอำนาจมาผนวกเอาพื้นที่ทั้งสองเข้าด้วยกัน แล้วจึงสถาปนา "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ หรือเวียงพิงค์" เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา มีกษัตริย์ปกครองรวม 18 พระองค์ (พุทธศักราช 1839 - 2101) ซึ่งการจัดแสดงส่วนนี้เน้นเรื่องคติความเชื่อและความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนา จากนั้นได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านานกว่า 200 ปี เมื่อนครเชียงใหม่ฟื้นตัวด้วยความสัมพันธ์กับอาณาจักรสยาม แม้เป็นเมืองประเทศราชหรือหัวเมืองฝ่ายเหนือของสยาม แต่มีอิสระในการปกครองโดยมีเจ้าผู้ครองนครจำนวน 9 องค์ เมื่อประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมีสถานะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่พุทธศักราช 2476 เป็นต้นมา |
อนึ่ง ส่วนจัดแสดงภายในอาคารชั้นบนนี้ เป็นการนำผู้เข้าชมย้อนอดีตพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนล้านนาจากสมัยรัตนโกสินทร์สมัยล้านนา สมัยหริภุญไชย เข้าไปสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
|
ส่วนจัดแสดงชั้นบน จำนวน 8 ห้อง ประกอบด้วย
|
คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
|
|
พระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา
|
|
ล้านนาสมัยรัตนโกสินทร์
|
|
สมัยประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ
|
|
อาณาจักรล้านนา
|
|
ล้านนาภายใต้การปกครองของพม่า
|
|
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคเหนือ
|
|
ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และราชสำนักสยาม |
อาคารชั้นล่าง จำนวน 8 ห้อง จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานทางศิลปกรรมที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านพุทธศิลป์ของล้านนา ประกอบด้วยพัฒนาการของพระพุทธรูป 4 ระยะ ได้แก่ การได้รับอิทธิพลจากศิลปะหริภุญไชย ศิลปะอินเดียแบบปาละ และศิลปะพม่าแบบพุกามในพุทธศตวรรษที่ 19 การได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ 20 ลักษณะเฉพาะของศิลปะล้านนาในพุทธศตวรรษที่ 21 และหลังจากปลายพุทธศตวรรษที่ 21 โบราณวัตถุที่สำคัญโดดเด่น เช่น เศียรพระพุทธรูปสำริด ขนาดสูง 182 เซนติเมตร ที่เรียกว่า “พระแสนแซว่” เครื่องพุทธบูชาจำลองที่พบในเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะสร้างเขื่อนภูมิพล พระพิมพ์ เครื่องพุทธบูชา และเครื่องสักการะในพระพุทธศาสนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้แกะสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 |
นอกจากนี้ ยังจัดแสดงเครื่องถ้วยที่พบจากแหล่งเตา แหล่งโบราณคดีและจากโบราณสถาน ทั้งเครื่องถ้วยล้านนา เครื่องถ้วยสุโขทัย และเครื่องถ้วยต่างประเทศอย่างจีน เวียดนาม สะท้อนถึงการติดต่อระหว่างล้านนากับบ้านเมืองอื่น ๆ จิตรกรรมล้านนาโดยเฉพาะภายในวิหารตามวัดต่าง ๆ และยังคงจัดแสดงศิลปะในประเทศไทยเพื่อให้ผู้สนใจโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ได้ใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับศิลปะล้านนา
|
ส่วนจัดแสดงชั้นล่าง จำนวน 8 ห้อง ประกอบด้วย
|
พัฒนาการพระพุทธรูปศิลปะล้านนา
|
|
พระแสนแซว่
|
|
พระพิมพ์ล้านนา
|
|
เครื่องพุทธบูชา และเครื่องสักการะในพระพุทธศาสนา
|
|
โบราณวัตถุพบที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
|
|
เครื่องถ้วยล้านนา
|
|
จิตรกรรมล้านนา
|
|
ศิลปะในประเทศไทย
|
|
|