ประวัติที่มาและความสำคัญ
กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภให้สร้างขึ้น มูลเหตุแห่งการสร้างเนื่องมาจากใน พ.ศ. 2500 ได้มีการค้นพบพระพุทธรูป พระพิมพ์ และเครื่องทองมีค่าจำนวนมหาศาลในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่ค้นพบพร้อมทรงมีพระราชดำรัสกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นว่า “โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษาและตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่”
ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2501 ขณะที่กรมศิลปากรขุดเจาะอุโมงค์ลงไปยังกรุของวัดราชบูรณะเพื่อทำเส้นทางให้ประชาชนเข้าชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีอยู่ บริเวณผนังกรุทั้ง 4 ด้านได้โดยสะดวก กรมศิลปากรได้ขุดพบกรุเพิ่มอีก 7 กรุ ทุกกรุมีพระพุทธรูป และพระพิมพ์จำนวนมากนับแสนองค์และซ้ำแบบกัน กระทรวงศึกษาธิการจึงอนุมัติให้กรมศิลปากรขอรับเงินบริจาคจากประชาชนโดยให้พระพิมพ์เป็นของสมนาคุณตอบแทน เพื่อนำเงินที่ได้มาจัดสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับเก็บรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุจากวัดราชบูรณะ พร้อมตั้งชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสถาปนาวัดราชบูรณะ
พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2504 โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดปัจจุบัน นอกจากจะจัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะแล้วยังจัดแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งต่างๆที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงด้วย
ประวัติสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งของประเทศไทย เพราะเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของคนไทยก่อนจะย้ายไปตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีด้วยเหตุนี้จึงยังคงมีหลักฐานให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรื่องในอดีปรากฏอยู่มากมายโดยเฉพาะที่เป็นโบราณสถานดังนั้นเมื่อเราก้าวเข้าสู่เขตเมืองของพระนครศรีอยุธยาเราจะสัมผัสกับภาพของเจดีย์รูปแบบต่างๆของสมัยอยุธยา ที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ หลายแห่งยังอยู่ในสภาพดี เพราะได้รับการอนุรักษ์ดูแลจากกรมศิลปากรมาโดยตลอดอนึ่งนอกจากสภาพแวดล้อมที่สะท้อนให้เห็นความเป็นอาณาจักรอยุธยาแล้วลักษณะพิเศษของพระนครศรีอยุธยา ก็คือ ภาพของคนในยุคปัจจุบันที่ยังดำเนินวิถีชีวิตไปควบคู่กับการเป็นเมืองเก่าในอดีต บางครั้งการใช้ชีวิตร่วมกันก็ทำให้เกิดปัญหาในด้านการอนุรักษ์และพัฒนา แต่บางครั้งก็เป็นการธำรงไว้ซึ่งความมีชีวิตของเมือง จากอดีตสู่ปัจจุบัน เมื่อมีโบราณสถานอยู่ทั้งในตัวเมืองและล้อมรอบตัวเมือง และด้วยเหตุที่คงความมีอำนาจมาถึง 417 ปี โบราณสถานเฉพาะที่มีอยู่ในเขตเมืองและสร้างโดยพระมหากษัตริย์จึงมีอยู่มากมาย ภายหลังจึงได้มีการค้นพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่คนไทยนิยมบรรจุไว้ในกรุของวัดต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปะหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อพุทธศักราช 2500 เมื่อได้มีการค้นพบเครื่องทองที่เป็นชุดสถูปและเครื่องราชูปโภคจำลองซึ่งสันนิษฐานว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ได้สร้างเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเชษฐาสองพระองค์ของพระองค์โดยบรรจุไว้ในกรุวัดราชบูรณะ เมื่อพุทธศักราช 1967การค้นพบครั้งนั้นเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของงานโบราณคดีในสมัยแรกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จเจ้าพระนางพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณวัตถุเหล่านั้นและพระราชทานพระราชดำริว่สมควรจัดสร้างพิพิธภัณฑ สถานขึ้น ณ สถานที่พบคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเก็บรักษาให้เป็นมรดกของท้องถิ่นนั้นต่อไป เนื่องจากเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของที่นั่น กรมศิลปากรจึงได้จัดสร้าง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” ขึ้นมา ที่กลางเมืองพระนครศรีอยุธยา และเปิดเป็นทางการเมื่อพุทธศักราช 2504 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยานี้ ต้องถือว่าเป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑสถานที่สร้างขึ้น เพื่อการเป็นพิพิธภัณฑสถานโดยตรงตั้งแต่ต้นมิใช่เป็นเพียงเพื่อการเก็บรวบรวมรักษามรดกของชาติเพียงอย่างเดียวเหมือนพิพิธภัณฑสถานรุ่นก่อนๆจึงได้มีการวางแผนงานการจัดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวจากจุดเริ่มต้น
ดังนั้น หากเมื่อได้เริ่มก้าวเข้าในเขตรั้วพิพิธภัณฑสถานที่ชัดเจน กว้างขวาง มีพื้นที่เหลือเฟือสำหรับการขยายตัวในอนาคต ตัวอาคารเริ่มมีการจัดสร้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดงโดยเฉพาะ มีการวางแนวทางการจัดแสดงโดยแบ่งเป็นเนื้อหาที่ชัดเจน จึงเกิดมีอาคารแบ่งเป็นสองหลัง อาคารหลังแรกด้านหน้าถือเป็นอาคารหลัก ที่เน้นความสำคัญของการค้นพบโบราณวัตถุ ในเขตพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ผู้เข้าชมเกิดความรู้สึกสอดคล้องไปกับบรรยากาศของโบราณสถานต่างๆ ที่รายล้อมอยู่รอบตัวเมืองและรอบตัวพิพิธภัณฑสถาน สำหรับโบราณวัตถุ ที่สำคัญของอาคารหลังนี้ก็คือ พระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดได้จากการกรุวัดมหาธาตุ ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยบนแผ่นดินอยุธยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 - 23 ที่สอดคล้องกับหลักฐานที่เป็นประติมากรรมพระพุทธรูปต่างๆ ที่พบในประเทศไทยก่อนหน้านั้น ในพื้นที่ต่างๆ ในหลายภูมิภาค ส่วนวัตถุสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือเครื่องทองต่างๆ ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะ ที่มีทั้งพระแสงดาบทองคำ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลองพระพุทธรูปทั้งที่เป็นประติมากรรมและแผ่นทองดุน และยังมีประติมากรรมและแผ่นทองดุนรูปสัตว์ต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานทางศิลปะที่งดงาม แสดงความเป็นสุดยอดของงานช่างทองของไทยในสมัยอยุธยา ยากจะหาที่ใดเสมอได้ แม้ทอดสายตาไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วก็ตาม
นอกจากนั้นก็ยังมีพระพิมพ์ที่ทำด้วยวัสดุต่างๆ อีกมากมายพร้อมด้วยประติมากรรมพระพุทธรูปที่งดงามจากสมัยต่างๆ ซึ่งพบในพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง และด้วยเหตุที่คนในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มีช่างฝีมือด้านต่างๆ มารวมตัวกันอยู่อย่างมากมาย จึงมีวัตถุประเภทอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นสันทรียศาสตร์ของคนในสมัยกรุงศรีอยุธยามาจัดแสดงอยู่ เช่น บานประตูไม้จำหลักที่ถอดมาจากโบราณสถานในจังหวัดที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างสมัยปัจจุบันได้อีกด้วย เป็นต้น ส่วนในอาคารหลังที่สองซึ่งอยู่ด้านหลังนั้น มีการนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พบในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศมาจัดแสดง เป็นความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และยังมีอาคารเรือนไทยอยู่ระหว่างอาคารทั้งสองที่จะทำให้ผู้เข้าชมสามารถเชื่อมต่อความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนไทย จากวัตถุต่างๆ ที่พบในอาคารทั้งสองกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสภาพโบราณสถานที่ผ่านมาในอดีตและวิถีชีวิตที่ดำเนินต่อมาในปัจจุบันของคนไทยที่อยุธยา
ที่มาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 ได้มีผู้ลักลอบขุดเจาะหากรุเข้าไปในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยประสงค์จะได้ของมีค่า ซึ่งเชื่อว่ามีบรรจุไว้ในกรุภายในองค์พระปรางค์นั้น ผู้ลักลอบขุดกรุในองค์พระปรางค์ดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้ในเวลาใกล้เคียงและสามารถสืบขยายผลในเวลาต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและผู้กำกับการตำรวจภุธรประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงได้รีบรายงานเสนอให้กรม ศิลปากรทราบและพิจารณาขุดค้นเอาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งยังคงมีเหลืออยู่ออกเสีย เพื่อมิให้สมบัติอันมีค่าของชาติสูญหายไปหมด กรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินงานสำรวจและขุดค้นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2500 ในการขุดกรุดังกล่าวนี้ได้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งและเป็นที่น่าสนใจของนักศึกษาและประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ณ กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีอยุธยาอันเป็นที่เก็บรักษาชั่วคราว เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2500 ทรงมีพระราชปรารภกับอธิบดีกรมศิลปากร ว่า “โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาและตั้งแสดงให้ประชาชนชมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษาและตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่...” อธิบดีกรมศิลปากรน้อมรับพระราชปรารภดังกล่าวนี้ใส่เกล้าฯและคิดหาทางจะดำเนินการตามพระราชประสงค์อยู่ตลอดมา แต่ก็ขาดงบประมาณที่จะจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้นใหม่ และพิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีอยู่ในพระราชวังจันทรเกษมก็มีศิลปวัตถุโบราณวัตถุตั้งแสดงแออัดยัดเยียดอยู่แล้ว ทั้งตัวอาคารพิพิธภัณฑสถานก็ชำรุดทรุดโทรมไม่เป็นที่ปลอดภัยและไม่เหมาะสม แต่ด้วยพระบรมเดชานุภาพในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทบันดาลให้สามารถสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้นใหม่ได้ตามพระราชปรารภ กล่าวคือ เมื่อกรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า ภาพจิตรกรรมที่ได้พบในกรุวัดราชบูรณะในครั้งนั้นเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระอดีตพระพุทธเจ้าและพระอสีติมหาสาวกทั้งสี่ด้านมีคุณค่ายิ่งทางศิลปะ ประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมควรจะได้สงวนรักษา และหาทางเพื่อที่จะให้นักศึกษาประชาชนได้ลงไปชมภาพจิตรกรรม กรมศิลปากรจึงได้เสนอโครงการจัดสร้างอุโมงค์ลงไปยังกรุชั้นที่มีภาพจิตรกรรมนั้นต่อรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบด้วยและรัฐสภาได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการนี้ให้ในงบประมาณ พ.ศ.2501
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2501 ขณะที่กำลังเจาะองค์พระปรางค์เพื่อก่อสร้างอุโมงค์นั้น เจ้าหน้าที่ได้พบกรุกรุหนึ่งบรรจุพระพิมพ์ไว้มากมาย ในเวลาต่อมาได้พบกรุพระพิมพ์อีก 6 กรุ ทุกกรุมีพระพุทธรูปและพระพิมพ์ดีบุกมากมายจำนวนนับแสนองค์ ที่ผนังกรุบางกรุยังมีภาพจิตรกรรมรวมอยู่ด้วย กรมศิลปากรได้นำโบราณวัตถุและศิลปวัตถุขึ้นจากกรุดังกล่าวส่งไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และฝากเก็บไว้ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การสืบค้นพระพิมพ์สำเร็จเรียบร้อยเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2501และกรมศิลปากรได้พิจารณาเห็นว่า พระพิมพ์ที่ได้จากกรุวัดราชบูรณะมีอยู่มากมายและซ้ำแบบกันกระทรวงศึกษาธิการจึงได้อนุมัติให้กรมศิลปากรเปิดรับเงินบริจาค เพื่อนำมาสร้างพิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาขึ้นใหม่โดยทางราชการมอบพระพิมพ์ที่ได้จากกรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะให้เป็นการสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงิน ซึ่งได้รับเงินบริจาคในการนี้รวมทั้งสิ้น 3,461,928 บาท 22 สตางค์ (สามล้านสี่แสนหกหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยแปดสิบสองบาทยี่สิบสองสตางค์) กรมศิลปากรได้ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้นใหม่ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้จัดสรรที่ดินราชพัสดุ ประมาณ 26 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมี พลเอก ถนอมกิตติขจร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มาเป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2501
การก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานได้สำเร็จเรียบร้อยลงเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2503 ค่าใช้จ่ายเฉพาะการก่อสร้างตัวอาคารตามที่ผู้รับเหมาประมูลก่อสร้างเป็นเงิน 1,718,500 บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนหนึ่งหมื่นแปดพันห้าร้อยบาทถ้วน) ต่อจากนั้นกรมศิลปากรก็ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ในการจัดตั้งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในอาคารพิพิธภัณฑ สถานตลอดจนจ่ายค่าปราบพื้นที่ ชดเชยค่าต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้างของราษฎร สร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่รักษาพิพิธภัณฑสถาน สร้างรั้วบริเวณพิพิธภัณฑสถานและโยกย้ายสถานีตำรวจภูธรวังโบราณซึ่งเดิมตั้งอยู่ในที่ดินผืนนี้ไปสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินฝั่งตรงข้าม สิ้นค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 1,496,781บาท (หนึ่งล้านสี่แสนเก้าหมื่นหกพันเจ็ดร้อยแปดสิบเอ็ดบาทถ้วน) รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นในการนี้เงิน 3,215,281 (สามล้านสองแสนหนึ่งหมื่นห้าพันสองร้อยแปดสิบเอ็ดบาทถ้วน) คงเหลือเงินที่ประชาชนบริจาคอยู่อีก 246,701 บาท 22 สตางค์ (สองแสนสี่หมื่นหกพันเจ็ดร้อยหนึ่งบาทยี่สิบสองสตางค์) ซึ่งทางราชจะได้จัดสรรใช้จ่ายในกิจการของพิพิธภัณฑสถานตามเจตจำนงของผู้บริจาคต่อไป พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สร้างเสร็จสมบูรณ์ด้วยเงินจากกรุมหาสมบัติของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สร้างบรรจุไว้ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อ พ.ศ.1967 เพื่อถวายพระราชกุศลและเป็นอนุสรณ์แด่พระราชบิดาและพระเชษฐาทั้ง 2 พระองค์ คือเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงขนานนามว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเจ้าสามพระยา และเป็นพิพิธภัณฑสถานภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย เปิดดำเนินการมาเป็นเวลา 51 ปีแล้ว (พ.ศ.2504 - พ.ศ.2555) และได้ทำหน้าที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุอันมีค่ายิ่ง เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษได้สร้างสมมาให้เป็นประจักษ์พยานแสดงความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่สืบทอดมาถึงทุกวันนี้
พิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
หลังจากกรมศิลปากรได้สนองพระราชดำริ สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุขึ้นและสำเร็จตามพระประสงค์เรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2504 โดยมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไว้ดังนี้ ข้าพเจ้าและพระราชินี มีความยินดีที่ได้มาเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ในวันนี้ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวดรักษาให้คงทนถาวรเป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล โดยเฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาและตั้งแสดงให้นักศึกษาและประชาชนได้ชมและศึกษาหาความรู้ให้มากและทั่วถึง ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ข้าพเจ้าคิดได้นานแล้วว่า โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ของท้องถิ่นใด ก็ควรจะเก็บรักษา และตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ของจังหวัดนั้นๆ ข้าพเจ้าพอใจที่กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากร ที่เห็นพ้องด้วยและทำได้สำเร็จเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานีอันรุ่งเรืองอยู่ถึง 417 ปี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุอันควรแก่การศึกษามากมาย ถ้าเราพิจารณาตามความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาที่เคยมีมาแต่อดีตแล้วจะเห็นกันได้ว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเท่าที่มีอยู่นี้ คงจะน้อยไปเสียอีกที่จะเก็บรวบรวมแต่ตั้งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผู้กล่าวกันว่าขณะนี้ได้มีผู้สนใจและหาซื้อโบราณวัตถุและศิลปวัตถุส่งออกไปต่างประเทศกันมาก ถ้าต่อไปภายหน้าเราจะต้องไปศึกษาหรือชมโบราณวัตถุศิลปวัตถุของไทยเราเองในต่างประเทศ ก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และน่าอับอายมาก เราจึงควรจะขวนขวายและช่วยกันหาทางรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของเราแล้วจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาไว้จะเป็นการดีที่สุด จริงอยู่ งานดังกล่าวนี้จะต้องใช้เวลาและเงินมากแต่ก็เชื่อว่า ถ้าทุกๆฝ่ายได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังแล้วก็คงจะสำเร็จลุล่วงไปได้ บัดนี้ได้เวลาแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขอให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ จงสถิตสถาพรอำนวยประโยชน์ในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดีแก่นักศึกษาและประชนชน โดยกว้างขวาง และหวังว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยานี้ จะเป็นสมบัติอันควรภาคภูมิใจของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและคนไทยทั่วไปตลอดกาลนาน
งานฉลองเนื่องในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พิธีประกาศอวยสังเวยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา และเทวดาอารักษ์ เนื่องในโอกาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2504 ศรีศรีวิสุทธิ์มหุดิฤกษ์เบิกสุริยยาตร เยี่ยมเมรุมาศผาดผยองดวงช่วงแสงอรุณร่า เบื้องบูรพาภาคหลากด้วยสีเนื้อเรื่อโยมพราย กลายเป็นสีทองส่องจักรวาลสร้างเมทนีดล เป็นศุภมงคลนิมิตเลิศเกิดพิทยสถาน ด้วยกระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากร ร่วมจินตนานุสงณ์ดำเนินงานเปิดพิพิธภัณฑสถานบรรจุพิพิธโภค เตือนใจโลกให้มามุงมุ่งดูมิรู้ขาด ชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งตระง่านงามสง่า อยู่ในพระนครศรีอยุธเยศโบราณราชธานี ณ วันนี้เป็นอภิลักขิตกาลสมัยพิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถจะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นประธานเพื่อทรงเปิดมงคลสถานโอฬารลาภอาบใจประชากรเป็นมิ่งขวัญพระนครศรีอยุธยาราชธานีเดิม เสริมสร้างกรุง รุ่งด้วยวรวัตถุกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะพึ่งเปิดปะเป็นชิ้นใหม่หลายอย่างต่างชนิด วิจิตรจำแนกแจกเป็นโบราณศิลปวัตถุและภาพจิตรกรรมนำให้เห็นเหตุว่า กรุงศรีอยุธเยศเคยรุ่งเรืองด้วยวัตถุธรรมกรรมวิจิตรมาแต่สมัยต้นอันนี้ก็เป็นผลที่ขุดค้นสำรวจได้ ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นทิพพยานวิเศษส่องว่าชาติไทยมีไหวพริบ หยิบชิ้นชอบกอรปด้วยความคิด มีระเบียบ ย่างชึ้นเหยียบภูมิฐานชั้นอารยชน สืบมาแต่ต้นตั้งกรุงศรีอยุธยา มูลเหตุที่ได้มาแห่งทรัพย์นับหลายสิบแสน เพราะปวงชนช่วยทดแทนถวายด้วยกริ่ม เช่าพระพิมพ์ไปบูชาปลื้มด่ำอำมฤตรศ โดยจำกำหนดนับองค์ก็คงจะหลายแสน ทรัพย์จึงหนักแน่นมากจำนวนถึงเพียงนั้น เป็นมหัศจรรย์มหันตเหตุ ชี้บุญเกษตรแดนเกษมสุขศิวาลัย สำเร็จได้ดั่งพระราชหฤทัยทรงอนุสงณ์ ด้วยกรมศิลปากรออกแบบพิพิธภัณฑาคารทรงสันฐานนั้นสวยสุดดุจชะลอวิมานแมนลงมาตั้ง เหตุที่ธนังกล่าวคือทรัพย์นับออกก่อสร้าง เป็นผลของพระพิมพ์ในกรุ พระปรางค์วัดราชบูรณะซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสามพระยาทรงสละเสริมสร้างบรรจุไว้ จึงให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” ประกาศพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชอยู่คู่แผ่นดินไทย บัดนี้ไซร์ได้ พระฤกษ์เบิกมงคลวาร เจ้าพนักงานตบแต่งเครื่องสักการะวรามิศ ประดิษฐประดับราชวัตฉัตรธงอลงกตด้วยพัสตราภรณ์ อลงกรณ์ด้วยพวงพู่สุมาลินกลิ่นฟุ้งเฟื่องฟูขจาย ระบายสุคนธรศหอมชื่นระรื่นอยู่มิรู้ขาด ด้วยสุคนธชาตสรรค์แต่ดอกไม้สดรสระรวยรมย์ ชวนดื่มดมอยู่ในบริเวณปรำซึ่งทำรับเสด็จในกลางแจ้ง ด้านหน้าแห่งพิพิธภัณฑสถานอันสร้างใหม่ ประทีปเทียนทองตามไสวสว่างไม่ส่างแสง ธูปหอมแต่งปรุงน้ำจันทน์ควันหอมเตลิดตลบ อีกสำรับคาวหวานก็สรรค์ครบโดยขนาด เชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชาธิราชซึ่งสถิตสรวงสวรรค์ พร้อมด้วยเทพยดาทุกช่องชั้นพิมานมาศลงมารับสังเวย เสวยพระกระยาหาร อันหลากรศต่างสุธาโภชน์ เสร็จแล้วเร่งปราโมทย์ในยัญวิธีที่บวงสรวง เชิญเสด็จพร้อมด้วยเทพเจ้าทั้งปวงโปรดปกาสิตให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ดำรงอยู่คู่พาราอย่ามีสรรพ์ภยันตรายเหล่าอมิตรคิดร้ายหมายมุ่งลัก เร่งผละผลักออกไปไกลสถาน พระเพลิงแผลงฤทธิ์ผลาญสรรพวัตถุ เร่งระงับดับเดือดดุอย่าให้เที่ยวแสดงเดช ขนประชามาประเวศชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอันสร้างใหม่ จงเปรมใจด้วยพระคุณบุญพระครอง ท่านผู้ใดใครเห็นขาดพร่องจงช่วยเติมต่อก่ออาคารสร้างเสริมเพิ่มให้หลายหลาก บริจาคทรัพย์และสิ่งของโบราณให้มูลมอง อุทกภัยอย่าไหลล่องมาท่วมทับ ให้คงคู่อยู่สำหรับพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสง่างามกรุงรุ่งจำรัสเรือง เกียรติฟุ้งเฟื่องเบื้องบูรพาภาคหลากล้ำทุกธานี ขอคุณพระศรีรัตนตรัยโปรดอภิบาล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สมดั่งสัจวาจาเทพประทานเทอญ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา กับการดำเนินงานที่ผ่านมา พ.ศ.2525 เป็นปีที่รัฐบาลจัดงานเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เพื่อเป็นการสนองต่อนโยบายรัฐบาลทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จึงดำเนินการจัดนิทรรศการเพื่อร่วมเฉลิมฉลองกรุงรัตน โกสินทร์ ครบ 200 ปี เรื่อง “ชีวิตไทยในชนบท” โดยมีนายกิตติ ประทุมแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเปิดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2525 และใน พ.ศ.2526 จัดนิทรรศการเรื่อง “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านประวัติการสร้าง รูปแบบศิลปะและการดูแลรักษา โดยนายกิติ ประทุมแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดนิทรรศการและมอบราลวัลชนะเลิศสำหรับผู้ตอบคำถามชิงรางวัล ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนต่างๆ เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 แห่งการพัฒนาและเสริมสร้างงานบริการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จึงได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา โดยสร้างเป็นอาคารเรือนไทยบริเวณคลองฉะไกรน้อยด้านทิศตะวันตกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จนกระทั่ง พ.ศ.2529 เป็นปีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เปิดดำเนินการด้านการบริการครบ 25 ปี จึงมีการจัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง “เจ้าสามพระยา 25 ปี” ขึ้น เพื่อระลึกถึงจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยและบทบาทความสำคัญตลอดจนเผยแพร่ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ในอดีตต่อสังคม พ.ศ.2530 กรมศิลปากรร่วมกับมูลนิธิกุงเบงเกี่ยน ทำการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานบ้านนักบุญเปโตร (โบสถ์ของคณะโดมินิกัน) ในหมู่บ้านโปรตุเกส พบโครงกระดูกถูกฝังไว้บริเวณแท่นพิธี คาดว่าคงเป็นโครงกระดูกของบาทหลวง ส่วนบริเวณนอกโบสถ์ยังพบสุสานที่มีโครงกระดูกเรียงรายอยู่กว่า 200 โครง นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุอีกหลายรายการด้วย เช่น ไม้กางเขน ลูกประคำ เหรียญรูปเคารพ เลนส์แว่นตา เครื่องแก้ว เป็นต้น ปัจจุบันศิลปวัตถุเหล่านี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และได้รวบรวมองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะชนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการจัดทำพิธีทักษิณานุประทานบูชาพระบรมสารีริก ธาตุก่อนการจัดงานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลกต่อเนื่องทุกปี พ.ศ.2550 เป็นปีเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา กรมศิลปากร ได้ทูลเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย”พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเรื่อง“คุณธรรม จริย ธรรม ตามรอยพระโพธิสัตว์” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2550 เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ทั้งปรัชญาแนวคิดและหลักธรรมคำสอน ที่มีอิทธิพลและฝังลึกอยู่ในความคิดและวิถีปฏิบัติของคนไทยมาช้านานและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีความผูกพันและศรัทธาในสถาบันกษัตริย์อย่างเนืองแน่นได้มีการจัดทำครอบครัวสุขสันต์เที่ยวพิพิธภัณฑ์วันอาทิตย์ตามนโยบายของกรมศิลปากรโดยจำลองบรรยากาศตลาดย้อนยุคในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายใต้ชื่อ “ตลาดบก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” อาทิ ย่านประตูดินพระราชวังจันทบวรฯ,ย่านป่าพร้าว,ย่านป่าถ่าน,ย่านวัดมหาธาตุ,ย่านป่าโทน,ย่านป่าขนม,ย่านขนมจีน,ย่านชีกุน,ย่านป่าตองและย่านท่าขัน รวม 10 ย่าน โดยมีนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2553 กิจกรรมครั้งนี้นอกจากให้ความรู้และความเพลิดเพลินแก่นักท่องเที่ยวแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากชุมชนและร้านค้าเป็นอย่างดี และพัฒนาโครงการ “อยุธยา วัง วัด ย่านตลาดชุมชน” เป็นโครงการต่อเนื่องโดยดึงนักท่องเที่ยวที่เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา มาเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยมีรถล้อยาง รับ - ส่ง จากหน้าอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวและเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เกิดเรียนรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ อีกทั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ได้ทำการเปิดบริการพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนภายใต้ชื่อ “ไนท์มิวเซียม” เพื่อให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ในระหว่างงานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลกและงานกาชาดประจำปี 2552 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านการรักษาความปลอดภัยภายในพิพิธภัณฑ์จึงได้ประสานงานไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา ขอกำลังตำรวจเข้าดูแลความปลอดภัย โดยได้ตำรวจแม่นปืน 4 นาย เฝ้าพิพิธภัณฑ์ในช่วงกลางคืน การเฝ้าดูแลดังกล่าวทำด้วยความเข้มงวดเพราะหวั่นซ้ำรอยผู้ร้ายเข้าโจรกรรมศิลปวัตถุเหมือนที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นซึ่งเกิดโจรกรรมก่อนหน้านี้ และได้ปิดโครงการลงเนื่องจากคำนึงถึงระบบรักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณในการสนับสนุน พ.ศ.2555 กับการให้บริการครบรอบ 50 ปี ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมร่วมกับทายาทตระกูลเตชะคุปต์ เปิดสัมนาทางวิชาการ “พระยาโบราณราชธานินทร์ "(พรเตชะคุปต์)” เพื่อน้อมรำลึกถึงสมุหเทศาภิบาลผู้ทรงต่อคุณมณฑลกรุงเก่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ณ กรุงศรี 1 โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ และทำการเปิดนิทรรศการพร้อมรูปหล่อพระยาโบราณราชธานินทร์ ณ อาคารจัดแสดง 3 (อาคารเรือนไทย) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 โดยนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นประธานเปิดนิทรรศการฯ วิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ พ.ศ.2538 ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมเกาะเมืองอยุธยาทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ได้รับวิกฤติจากปัญหาน้ำเข้าท่วมเต็มพื้นที่ โดยสาเหตุของอุทกภัยเกิดจากอุทกภัยตามธรรมชาติทำให้น้ำล้นตลิ่ง ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ทำคัดดินเป็นกำแพงกั้นน้ำตลอดแนวในวันที่ 3 ตุลาคม เวลาประมาณ 20.30 น. กำแพงอิฐกั้นน้ำของโรงงานสุรานั้นได้พังทลายลงน้ำได้ทะลักเข้าเกาะเมืองอยุธยาอย่างรวดเร็ว และเข้าท่วมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ในเวลาต่อมา ทำให้อาคารสำนักงานอาคารเรือนไทยและพื้นที่รอบได้รับความเสียหาย น้ำเข้าท่วมขังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเป็นเวลานาน และน้ำเริ่มลงเข้าสู่สภาพปกติในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2534 ได้มีการฟื้นฟูดูแลภูมิทัศน์ อาคารสำนักงานและอาคารเรือนไทยอย่างเร่งด่วนเพื่อพร้อมรับบริการนักท่องเที่ยว พ.ศ.2541 “ฟ้าพิโรธถล่มเมืองกรุงเก่าผ่าเรือน ไทยในพิพิธภัณฑ์” สร้างความสูญเสียให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอาคารเรือน ไทยแห่งนี้เปิดให้บริการได้ยังไม่ครบ 1 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 04.30 น. ของวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2541 จากการสอบถามยามรักษาการณ์พิพิธภัณฑ์ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า “ก่อนเกิดเหตุมีพายุฝนฟ้าคะนองและมีฟ้าผ่าลงมาอย่างหนัก ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ตนและเพื่อนยามรวม 4 คน จึงแยกย้ายกันตรวจดูพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเกรงว่าจะมีคนร้ายลอบเข้ามาขโมยของ เมื่อมาถึงบริเวณอาคารที่เกิดเหตุได้เห็นฟ้าผ่าลงมาที่หน้าจั่วของอาคารเรือนไทย ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณ จึงวิ่งไปดูพบว่าไฟได้ลุกไหม้จากด้านในของอาคารแล้วลุกติดผนังอาคารทั้ง 4 ด้าน เนื่องจากอาคารเป็นไม้และประดับผ้าม่านจึงเป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี ตนได้แจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ร่วมปฏิบัติงานด้วยกัน และนายพิชัย วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ทราบ จากนั้นได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาระงับเพลิง” เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายแก่ศิลปวัตถุสำคัญหลายรายการ โดยเฉพาะตำรายาโบราณซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2554 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา มีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ เป็นวันที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ต่างรอคอยที่จะเฉลิมฉลองครบรอบพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันกับเกิดขึ้นเมื่อทางพิพิธภัณฑ์ทราบข่าวประเทศไทยกำลังประสบปัญหามหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ สาเหตุเกิดจากพายุหลายลูกที่พัดผ่านประเทศ ไทย จึงทำให้ฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2554 เป็นต้นมาจึงมีการจัดเตรียมรับภาวะฉุกเฉินอุทกภัย จนกระทั่งในเดือนตุลาคมได้รับแจ้งว่ากระแสน้ำได้ไหลเข้าสู่วัดไชยวัฒนารามและท่วมขังเต็มพื้นที่แล้วให้หน่วยงานต่างๆเตรียมแผนป้องกันต่อไป