|
พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก หรือ ที่เรียกว่า คูขื่อหน้า ในอดีตทางด้านทิศเหนือ มุมตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า สร้างขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณ พุทธศักราช 2120 ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก |
นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ |
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช |
- สมเด็จพระเอกาทศรถ |
- เจ้าฟ้าสุทัศน์ |
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช |
- ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) |
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ |
- สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ |
- กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ |
ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พุทธศักราช 2310 พระราชวังจันทรเกษม ได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการบูรณะและปรับปรุงพระราชวังจันทรเกษมขึ้นใหม่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม |
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชวังจันทรเกษม ให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้ พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเป็นหมู่ตึกกลางของพระราชวังเป็นที่ทำการ |
เมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้จัดสร้างอาคารที่ทำการภาคบริเวณกำแพงวัง ด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยา มาตั้งที่อาคารที่ทำการภาคในขณะนั้น
|
สถาปัตยกรรมพระราชวังจันทรเกษม |
สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากนั้นจึงมีการใช้งานกันเรื่อยมา ทั้งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงได้มีการซ่อมแซมและบูรณะอาคารต่าง ๆ ขึ้นนมาอีกครั้ง ดังนี้ |
กำแพงพระราชวัง ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐมีใบเสมาทับแนวบน มีประตูด้านละ 1 ประตู รวม 4 ด้าน คำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่า แต่เดิมวังจันทรเกษมมีกำแพง 2 ชั้น เช่นเดียวกับวังหลวง |
พลับพลาจัตุรมุข พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาลักษณะเป็นอาคารจตุรมุขแฝดใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการ และที่ประทับในเวลาเดียวกัน |
พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง ประกอบด้วย อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยา และศาลาเชิญเครื่อง พุทธศักราช 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกลุ่มอาคารพระที่นั่งพิมานรัตยานี้ ให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า |
พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแนวรากฐานเดิม ที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อทรงใช้เป็นที่ศึกษาดาราศาสตร์ |
โรงม้าพระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมกำแพง ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ |
อาคารสโมสรเสือป่า สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตรงบริเวณกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออก |
ตึกที่ทำการภาค หรืออาคารมหาดไทย สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว สร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกก่อกับทิศใต้
|
วังจันทรเกษม มิวเซียมที่กรุงเก่า |
ในระหว่างที่พระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา ท่านได้ทำการศึกษา และรวบรวมเรื่องราว รวมทั้งวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่า และบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2445 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า "โบราณพิพิธภัณฑ์" โดยในระยะแรกนั้นใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวบรวม |
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุต่าง ๆ จากโรงม้าพระที่นั่งเข้ามาเก็บรักษาและตั้งแสดงที่บริเวณอาคารพลับพลาจัตุรมุข พร้อมทั้งจัดสร้างระเบียงตามแนวอาคารด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก เพื่อจัดตั้งวัตถุ ศิลาจารึก และประติมากรรรมต่าง ๆ ตั้งชื่อว่า "อยุธยาพิพิธภัณฑ์" |
พุทธศักราช 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป เมื่อเสด็จถึงเมืองฮอมเบิค ประเทศเยอรมนี ทรงมีโทรเลขถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "มิวเซียมที่นี่เหมือนมิวเซียมที่กรุงเก่า" ด้วยเหตุนี้เอง "อยุธยาพิพิธภัณฑ์" ในขณะนั้น จึงเป็นที่รู้จักของบรรดาผู้สนใจ และรักในงานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาติ |
ต่อมา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2579 กรมศิลปากร ได้ประกาศให้อยุธยาพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม"
|
|
พระราชวังจันทรเกษม |
พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก หรือที่เรียกว่า คูขื่อหน้าในอดีต ทางด้านทิศเหนือมุมทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ใกล้ตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน เดิมเป็นพระราชวังโบราณมีฐานะเป็นวังหน้าของกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อประมาณพุทธศักราช 2120 โดยมีพระราชประสงค์เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นอุปราชประทับที่วังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เมื่อเวลาเสด็จลงมาพระนครศรีอยุธยามักจะมีข้าราชบริวารและทหารติดตามลงมาเป็นจำนวนมาก ไม่มีที่ประทับพักแรมเป็นการเฉพาะ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชบิดา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “วังใหม่” ขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงอพยพผู้คนจากหัวเมืองเหนือลงมาอยุธยา พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่วังใหม่นี้ ชาวเหนือที่อพยพลงมาพักเรียกวังใหม่นี้ว่า วังจันทน์ ตามชื่อ วังจันทน์ ที่พิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จฯ ขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นอุปราชประทับที่วังจันทน์ เรียกว่า วังจันทน์บวร ครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช 2148 โปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้าสุทัศน์พระราชโอรถดำรงตำแหน่ง อุปราชประทับที่วังจันทน์บวร เช่นกัน จากแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วังจันทน์บวรว่างเว้นจากการประทับของพระมหาอุปราชราว 46 ปี กระทั่งสมัยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พุทธศักราช 2199 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชนัดดาเป็นอุปราช ประทับ ณ วังจันทน์บวร สันนิษฐานว่า ชื่อวังจันทน์บวรคงจะได้มาเปลี่ยนเป็น พระราชวังบวรสถานมงคลหลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเด็จขึ้นครองราชย์ เนื่องจากสมัยต่อมา คือ รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ราวปีพุทธศักราช 2231 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หลวงสรศักดิ์ พระราชโอรถเป็นอุปราชและให้เรียกตำแหน่งนี้ว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งตำแหน่งนี้คงจะมาจากชื่อของ พระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นที่ประทับของอุปราชนั่นเอง ส่วนเจ้านายที่สังกัดวังหลังเรียกว่า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และคงจะเป็นแบบอย่างกันมาจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อหลวงสรศักดิ์(พระเจ้าเสือ) เสด็จขึ้นครองราชย์พุทธศักราช 2246 โปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระราชโอรส ดำรงตำแหน่ง กระพระราชวังบวรสถานมงคล ประทับที่วังหน้าแห่งนี้ กระทั่งพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช 2275 วังหน้าจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ หลังจากที่ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกในพระราชวังหลวงแล้วก็ยังทรงประทับที่วังหน้าเป็นเวลา 14 ปี ในเวลาเดียวกันนี้ก็ทรงโปรดให้แต่งตั้ง กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในระยะแรก ทรงโปรดให้ประทับ ณ วังหลวง กระทั่ง พุทธศักราช 2287 เกิดเพลิงไหม้วังหน้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่และโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์เสด็จมาประทับที่วังหน้า ซึ่งนับเป็นอุปราชองค์สุดท้ายที่ประทับ ณ วังหน้าแห่งนี้ หลังจากรัชกาลของพระองค์แล้ว วังหน้าก็ว่างมากระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2310 หลังจากนั้น พระราชวังแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างเหลือแต่ซากอาคาร ก่ออิฐถือปูน เช่นเดียวกับโบราณสถานอื่น ๆ ของกรุงศรีอยุธยา |
ระยะเวลาได้ผ่านไปจนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้เริ่มมีการฟื้นฟูและบูรณะกรุงเก่าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นับตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2394 เป็นต้นมา หลักฐานจากเอกสารที่สำคัญคือ จดหมายเหตุรัชการที่ 4 จุลศักราช 1219 (พุทธศักราช 2395) ได้เริ่มกล่าวถึงพระราชวังจันทรเกษมเป็นครั้งแรก เมื่อพระองค์ทรงมีสารตราไปถึงพระยาโบราณกรุงเก่า เรื่อง “กรมพิทักษ์จะเสด็จขึ้นทอดพระกฐินให้เร่งมีการซ่อมแซมพระที่นั่งจันทรเกษม” กล่าวได้ว่า พระราชวังจันทรเกษมในเวลานั้นคงได้เริ่มมีการฟื้นฟูและบูรณะขึ้นมาใหม่โดยให้เจ้าพระยามหาสิริธรรมเจ้าเมืองกรุงเก่าในเวลานั้นเป็นผู้ดูแลเริ่มจากการสร้างกำแพงพระราชวังในราวปีพุทธศักราช 2400 และในปีต่อมา พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรการบูรณะพระราชวังจันทรเกษม รวมทั้งวัดเสนาสนารามและวัดขมิ้น |
หลังจากนั้นในปีพุทธศักราช 2404 พระองค์จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าชิตเชิงพงษ์เคราะห์เป็นแม่กองในการดูแลการก่อสร้าง พระตำหนักและพลับพลาที่ประทับ โดยได้ทรงเร่งรัดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว ในการที่รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟู บูรณะพระราชวังจันเกษมขึ้นใหม่นี้ เพื่อใช้เป็นที่ประทับในเวลาที่เสด็จประพาสกรุงเก่า และชื่อของพระราชวังนั้น เดิมเรียกว่า “วังจันทน์บวร” คำว่า “บวร” นั้นทำให้นึกถึงวังหน้า เมื่อจะสถาปนาให้เป็นที่ประทับแล้ว จึงโปรดพระราชทานนามใหม่โดยเติมสร้อยข้างท้ายว่า “วังจันทรเกษม” สำหรับหมู่อาคารและพลับพลาที่สร้างขึ้นในเวลานั้น คงได้แก่พลับพลาจตุรมุขซึ่งเป็นอาคารเครื่องไม้ที่สร้างขึ้นบนฐานพระที่นั่งองค์เดิม บริเวณประตูด้านทิศเหนือ หมู่อาคารพระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งมีลักษณะเป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง หอพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) ใช้สำหรับทอดพระเนตรดวงดาวโรงละคร ห้องเครื่อง และตึกโรงม้าพระที่นั่ง เป็นต้น |
สิ่งก่อสร้างและองค์พระที่นั่งต่าง ๆ นั้น สันนิษฐานว่าบางส่วนคงมาแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะกลุ่มอาคารพระที่นั่งพิมานรัตยา ในปีพุทธศักราช 2438 ภายหลังจากที่มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลกรุงเก่าขึ้น โดยรวมหัวเมือง 8 เมือง เข้าอยู่ในมณฑล คือ เมืองกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองสระบุรี เมืองลพบุรี เมืองพระพุทธบาท เมืองพรหมบุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองสิงห์บุรี โดยให้มีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่มณฑลกรุงเก่า ในปีพุทธศักราช 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพระราชวังจันทรเกษม เพื่อพระราชทานให้สำหรับเป็นที่ว่าการมณฑลในเวลานั้น โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าในขณะนั้น เป็นผู้ดูแลจัดการ ดังปรากฏความในจดหมายราชการมณฑลกรุงเก่าเลขที่ 1043057 ลงวันที่ 16 กันยายน รศ. 117 ความว่า |
"มิวเซียมที่นี่ เหมือนมิวเซียมที่กรุงเก่า ออกคิดถึงพระยาโบราณ ฉันจะแต่งหนังสือมิวเซียมนี้” ข้อความดังกล่าว เป็นความในสำเนาพระราชโทรเลข ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงส่งมาจากเมืองฮอมเบิค (HAMBURG) ประเทศเยอรมัน เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2451 แสดงให้เห็นถึงความสนพระทัย ในกิจการพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งกำลังก่อร่างสร้างตัวอยู่ในเวลานั้น อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ อยุธยาพิพิธภัณฑ์ ในพระราชวังจันทรเกษมขณะนั้นกำลังเป็นที่นิยมเพราะมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ เช่นเดียวกับยุโรป |
ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งศาลาว่าการมณฑลกรุงเก่า ภายในพระราชวังจันทรเกษมในปีพุทธศักราช 2439 แล้ว หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ข้าหลวงมหาดไทยในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้น ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจและศึกษาในงานประวัติศาสตร์โบราณคดีโดยนิสัย ท่านเป็นผู้ที่ชอบค้นคว้าและเสาะหาความรู้ทั้งจากการอ่านและการสำรวจโบราณวัตถุสถานในบริเวณมณฑลกรุงเก่า กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้รู้ที่สำคัญคนหนึ่งของมณฑลกรุงเก่า และยังเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2444 ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็น “พระยาโบราณบุรารักษ์” ปลัดมณฑลเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า และด้วยความเป็นผู้ที่สะสมความรู้ในวิชาโบราณคดีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ท่านจึงได้รวบรวมบรรดาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากที่ต่าง ๆ จากการตรวจตราวัตถุเหล่านี้ มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2445 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยในเวลานั้นได้เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรบรรดาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พระยาโบราณราชธานินทร์ได้รวบรวมไว้ จึงได้ชักชวนให้พระยาโบราณราชธานินทร์จัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยใช้พื้นที่บริเวณโรงม้าพระที่นั่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงในระยะแรกเรียกว่า “โบราณพิพิธภัณฑ์” |
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณพิพิธภัณฑ์ ที่พระราชวังจันทรเกษม และได้ทรงลงบันทึกไว้ในสมุดพิพิธภัณฑ์ ที่พระราชวังจันทรเกษม และได้ทรงลงบันทึกไว้ในสมุดพิพิธภัณฑ์ไว้ว่า “เก็บรวบรวมได้มากเกินคาดหมายและจัดเรียบเรียงดี” จากนั้นจึงได้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายวัตถุต่าง ๆ จากโรงม้าพระที่นั่งมาจัดตั้งแสดงไว้ ณ พลับพลาจตุรมุข โบราณวัตถุอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิลาและโลหะขนาดใหญ่ได้ก่อฐานอิฐและจัดตั้งไว้ภายในกำแพงวัง ทางด้านเหนือไปทางตะวันออก และทำเป็นระเบียงมุงสังกะสีตามไปตลอดแนว จัดขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานในพระนครศรีอยุธยา เรียกว่า “อยุธยาพิพิธภัณฑสถาน” |
ในปีพุทธศักราช 2451 ความในสำเนาพระราชโทรเลข ดังข้างต้นได้มีมาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อความทราบถึงพระยาโบราณราชธานินทร์ก็ทำให้ท่านมีความปลาบปลื้มเสมือนหนึ่งได้รับพระราชทานรางวัลจากการจัดพิพิธภัณฑ์ในครั้งนั้น ความในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 35 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีมาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ราชเลขาธิการฝ่ายในพระองค์เวลานั้น ได้กล่าวถึงมิวเซียมที่เมืองฮอมเบิคไว้ว่า น่ารักในวิธีที่เขาเก็บของ สารพัด อะไรที่ขุดไว้กันไว้เป็นพวกมีจนกระทั่งกระบุงขาด รอยไฟไหม้ อย่างเช่น พระยาโบราณมีที่กรุงเก่า นับว่าพระยาโบราณเดินทางถูกต้องแท้...” นับเป็นแนวทางเดียวกับที่พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้จัดไว้กับพิพิธภัณฑ์ของท่านที่กรุงเก่า |
ดังนั้นอยุธยาพิพิธภัณฑสถานจึงกลายเป็นสถานที่สำคัญ ที่มีทั้งแขกบ้าน แขกเมือง ขึ้นไปเที่ยวชมอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะมีการจัดเรื่องราวของวัตถุ เป็นกลุ่มเป็นพวก แทนที่จะเป็นแบบคลังเก็บของอย่างที่พิพิธภัณฑสถาน ในกรุงเทพฯ จากนั้นมาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2479 กรมศิลปากร จึงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้อยุธยาพิพิธภัณฑสถาน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม” จึงอาจ กล่าวได้ว่าอยุธยาพิพิธภัณฑสถานหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โบราณวัตถุศิลปวัตถุบางชิ้นยังได้นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จนกระทั่งทุกวันนี้ หรือแม้แต่ในคราวที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ในปีพุทธศักราช 2504 ก็ได้นำโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในพลับพลาจตุรมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ไปจัดแสดงด้วยเช่นกัน |
พระราชวังจันทรเกษมในปัจจุบันมีเนื้อที่ 14 ไร่ 93 ตรม. แต่ในอดีตนั้นอาณาเขตของพระราชวังจันทรเกษมมีเนื้อที่กว้างขวางกว่าเดิมในปัจจุบันมาก ทิศเหนือ คือ ด้านหน้าจรดกำแพงเมือง ทิศตะวันตกถึงวัดขุนแสน ทิศใต้ถึงวันเสนาสนาราม (วัดเสื่อ) ทิศตะวันออกถึงบริเวณที่ตั้งศาลพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน ในหนังสือตำนานวังหน้าของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้กล่าวไว้ว่า “เขตวังหน้า เดิมกว้างกว่าแนวกำแพงนี้มาก วัดเสนาสนาราม วัดขมิ้น 2 วัด อยู่ในเขตวัง (ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์) เพราะได้เคยขุดค้นพบรากฐานพระราชมณเฑียร บัวหัวเสา บัวโคนเสาและฐานระหัดน้ำได้ ตามบริเวณที่กล่าวมาแล้วหลายแห่ง” |
ในคำให้การของชาวกรุงเก่า กล่าวถึงพระราชวังจันทรเกษมไว้ว่า “มีกำแพง 2 ชั้นเหมือนวังหลวง กำแพงชั้นนอกสูง 7 ศอก (3.5 เมตร) มีชานสำหรับพลทหารประจำหน้าที่ หนา 2 ศอก (1 เมตร) วัดแนวกำแพงโดยรอบได้ 24 เส้น (960 เมตร) มีประตูใหญ่ขนาดกว้าง 4 ศอก (2 เมตร) 6 ประตู ประตูน้อย 2 ประตู รวม 8 ประตู ส่วนพระราชมณเฑียรของพระมหาอุปราชนั้น ข้างหน้า มีท้องพระโรงสำหรับเป็นที่เฝ้าหลังหนึ่ง (ต่อท้องพระโรงเข้าไป) มีพระวิมาน 3 หลัง อยู่ทางทิศเหนือหลังหนึ่ง ทิศใต้หลังหนึ่ง ทิศตะวันออกหลังหนึ่ง หลังตะวันออก ตะวันตก ยาวตามเหนือไปใต้ อีกหลังหนึ่งนั้นยามตะวันออกไปตะวันตก หลังตะวันออกตะวันตก 2 หลัง หลังคาทำเป็น 2 ชั้น แต่หลังใต้นั้นหลังคาทำเป็น 2 ชั้น หลังคาทำเป็น 3 ชั้น ที่ประทับพระมหาอุปราชทุกหลังนี้สลักปิดทอง แต่ภายในทาแดง ตำหนักหลังใต้ เรียกว่า พระที่นั่งพิมานรัตยา หลังตะวันตก ตะวันออก เรียกพระปรัศว์ ตั้งราชบัลลังก์ที่พระที่นั่งพิมานรัตยาที่ชลาข้างหน้ามีทิมพัก 3 หลัง มีคลังหลังหนึ่ง โรงช้าง 3 หลัง โรงม้า 3 หลัง สระน้ำ สระหนึ่ง” |
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงอิฐลงมาสร้างพระนครที่กรุงเทพฯ และสร้างพระอารามเป็นอันมาก ในปีพุทธศักราช 2438 พระยาชัยวิชิตสิทธิศักดิ์มหานัคราธิการ (นาก ณ ป้อมเพชร) ผู้รักษา กรุงเก่าขณะนั้น ได้เกลื่อนกำแพงลงเป็นแนวถนนรอบเกาะเมือง (ถนนอู่ทองในปัจจุบัน) แนวกำแพงพระราชวังจันทรเกษมที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ในคราวที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระราชวัง เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน มีความยาวด้านละ 4 เส้น (160 เมตร) บนกำแพงประดับด้วยใบเสมาโดยรอบ มีประตูทางเข้า 4 ด้าน ๆ ละ 1 ประตู |
พระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ ภายในพระราชวังจันทรเกษม สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาล จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารต่าง ๆ ขึ้นมาอีกครั้ง
|
|
พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่ติดกับกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอาคารเครื่องไม้ บนชานพลับพลาก่ออิฐถือปูน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตัวพลับพลาขึ้นใหม่บนรากฐานเดิมซึ่งเหลือเพียงซาก่ออิฐถือปูนของชานพลับพลาใช้เป็นที่ประทับและเป็นท้องพระโรง สำหรับว่าราชการขณะเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา ลักษณะเป็นพลับพลาจตุรมุขแฝดมีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 3 มุข หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันของมุขทั้ง 6 ของเดิมปั้นปูนประดับเป็นลายพระราชลัญจกรต่าง ๆ ไม่ซ้ำกันคือ |
ด้านหน้ามุขกลาง เป็นลายพระราชลัญจกรมหาโองการ |
ด้านหน้ามุขเหนือ เป็นลายพระราชลัญจกรครุฑพ่าห์ |
ด้านหน้ามุขใต้ เป็นลายพระราชลัญจกรหงส์พิมาน |
ด้านหลังมุขกลาง เป็นลายพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว |
ด้านหลังมุขเหนือ เป็นลายพระราชลัญจกรไอยราพต |
ด้านหลังมุขใต้ เป็นลายพระราชลัญจกรสังข์พิมาน |
สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาชัยวิชิต (นาก ณ ป้อมเพชร) บูรณะครั้งหนึ่งและใช้เป็นศาลาว่าการเมืองกรุงเก่า เมื่อพุทธศักราช 2439 พุทธศักราช 2447 ใช้เป็นที่ตั้งอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน ต่อมาพุทธศักราช 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาโบราณราชธานินทร์ซ่อมใหม่อีกครั้งหนึ่งในความอำนวยการของราชบัณฑิตยสภา ซ่อมครั้งนี้ได้รื้อตัวพลับพลาหมดทั้งหลัง เสา รอด ตง ขื่อ หล่อเฟโรคอนกรีตแทนของเดิม ทรงพลับพลาเดิมนั้นเตี้ยอยู่ให้ขยายสูงขึ้นไปอีกศอกหนึ่ง ฝาคงใช้ไม้ตามเดิม หน้าบันทั้ง 6 ลายปูนปั้นของเดิมชำรุด เปลี่ยนเป็นลายไม้แกะสลักแทนและยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้
|
|
พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นหมู่อาคารตั้งอยู่กลางพระราชวัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามแนวรากฐานเดิมและคงจะเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปดัดแปลงให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยแบบไทย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ใต้ถุนสูง ก่ออิฐเป็นห้อง ๆ อาคารชุดนี้ประกอบด้วยอาคารใหญ่ 2 หลัง ขยายต่อกัน มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและหลัง ทางด้านหน้าของอาคารใหญ่เป็นลานโล่ง มีเรือนขวางขนาดเล็กขนาบ 2 ข้าง เรียกปรัศว์ซ้ายและปรัศว์ขวา (ปรัศว์ – ข้าง, สีข้าง) ในปีพุทธศักราช 2439 ได้ใช้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า
|
|
ศาลาเชิญเครื่อง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของกลุ่มพระที่นั้งพิมานรัตยา เป็นลักษณะอาคารแบบโถงตะวันตกหลังคามุงกระเบื้อง
|
|
หอพิสัยศัลลักษณ์ เป็นอาคารทรงหอ 4 ชั้น ขนาด 15.80 เมตร x 17.00 เมตร สูง 22 เมตร ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่าสร้างครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้พังลงตั้งแต่ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามรากฐานเดิมแล้วพระราชทานนามว่า หอพิสัยศัลลักษณ์ ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว ต่อมาเมื่อพื้นที่ภายในพระราชวังจันทรเกษม ถูกใช้เป็นที่ทำการมณฑลกรุงเก่า จึงทำหน้าที่เป็นหอสังเกตุการณ์และติดเครื่องสัญญาณเตือนภัยของมณฑลกรุงเก่า
|
|
โรงม้าพระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 6.00 เมตร 17.00 เมตร ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยาโบราณราชธานินทร์ ใช้เป็นที่ตั้ง โบราณพิพิธภัณฑ์ |
โรงละคร เป็นอาคารหลังคาทรงปั้นหยา อยู่บริเวณด้านหน้าของพลับพลาจตุรมุข ปัจจุบันได้ถูกรื้อออกไปแล้ว
|
|
อาคารมหาดไทย หรือ ตึกที่ทำการภาค เป็นอาคารรูปตัว L ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ตั้งอยู่ชิดกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ ขนาดกว้าง 10.00 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาว 50.00 เมตร ด้านทิศใต้ยาว 65.00 เมตร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ใช้เป็นตึกที่ทำการภาคต่อมาจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 หลังจากนั้นยังได้ใช้เป็นที่ทำการของอัยการจังหวัด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานสหกรณ์จังหวัด และสำนักงานคลังเขต 1 จนกระทั่งพุทธศักราช 2536 จึงได้ส่งคืนให้เป็นที่ทำการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
|
|
อาคารสโมสรเสือป่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงปั้นหยาชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง ขนาด 11.20 เมตร x 20.00 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้สำหรับเป็นที่ชุมนุมกองเสือป่าของมณฑลกรุงเก่า ภายหลังเป็นที่ตั้ง “สำนักงานหอสมุดแห่งชาติ” |
ระเบียงจัดตั้งศิลาจำหลัก แต่เดิมสร้างเป็นระเบียง หลังคามุงสังกะสียาวไปตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออก ใช้สำหรับเป็นที่เก็บรักษาบรรดาโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ได้รวบรวมได้ |
ในปีพุทธศักราช 2537 นับเป็นที่น่ายินดีว่า อาคารพระที่นั่งพลับพลาจตุรมุข หอพิสัยศัลลักษณ์ และอาคารสโมสรเสือป่า ได้รับพระราชทานรางวัลสถาปัตยกรรมไทยอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นองค์พระราชทานรางวัล นับเป็นเกียรติยศ และความภาคภูมิใจของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |