|
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี สังกัดสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่รวบรวมเก็บรักษา อนุรักษ์ และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาท ตั้งอยู่ภายในบริเวณ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท มีพื้นที่ 3 ไร่ 45 ตารางวา
|
|
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ก่อตั้งขึ้นด้วยความสนใจของพระชัยนาทมุนี (นวม สุทตฺโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งได้รวบรวมโบราณศิลปวัตถุที่พบในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียง มาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานของวัดเป็นจำนวนมาก ต่อมาพระชัยนาทมุนีได้ยินดีมอบโบราณศิลปวัตถุดังกล่าวให้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย |
ในปี พุทธศักราช 2509 กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้นในบริเวณใกล้กับวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เพื่อเป็นที่ระลึกแด่พระชัยนาทมุนี เปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2512 เป็นต้นมา
|
ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เมืองชัยนาท |
จังหวัดชัยนาท ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย บริเวณที่ราบลุ่มมีแม่น้ำสายสำคัญอันได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย ที่ยังความอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้นแก่ผืนดิน ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล จากหลักฐานทางโบราณคดีที่สืบค้นได้ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าบริเวณจังหวัดชัยนาทปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 - 2,500 ปีมาแล้ว สืบเนื่องต่อมาถึงสมัยประวัติศาสตร์
|
|
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวานหินขัด ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก กำไลสำริด ลูกปัด รวมไปถึงการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและพิธีกรรมตามรูปแบบของสังคมดั้งเดิม |
ล่วงมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ 12 เมื่ออารยธรรมอินเดียส่งผ่านเข้ามายังภูมิภาคแห่งนี้ ชุมชนดั้งเดิมที่กระจายกันอยู่ตามบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ได้พัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เริ่มมีการบันทึกเรื่องราวด้วยตัวอักษร สร้างรูปเคารพ และก่อสร้างศาสนสถาน มีระบบสังคมการดำรงชีวิตซับซ้อนมากขึ้น ได้ปรากฏร่องรอยของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง เช่น เมืองอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ เมืองดงคอน อำเภอสรรคบุรี เป็นต้น โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เนื่องในพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปศิลา พระพิมพ์และชิ้นส่วนธรรมจักร ตลอดจนแผ่นหินเจาะรูมีเสียงกังวานอย่างที่เรียกกันว่า “ระฆังหิน” และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ |
บริเวณจังหวัดชัยนาทในปัจจุบันเคยมีเมืองสำคัญ คือ เมืองสรรค์ และเมืองชัยนาท ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับเมืองทั้ง 2 ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับ ในพระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ได้ตั้งโอรส 3 พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยา ให้ครองเมืองสุพรรณ เจ้ายี่พระยาให้ครองเมืองสรรค์ และเจ้าสามพระยาให้ครองเมืองชัยนาท |
เมืองสรรค์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย อยู่ในเขตพื้นที่ ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 20 เมืองสรรค์อยู่ในฐานะเป็นเมืองชั้นลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง โบราณสถานที่ปรากฏทั้งภายในเมือง เช่น วัดพระยาแพรก วัดสองพี่น้อง และ ที่วัดพระแก้วนอกเมือง ล้วนแต่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ที่วัดโตนดหลายมีรูปแบบแสดงถึงความสัมพันธ์กับราชธานีสุโขทัยในช่วงเวลานั้นด้วย ศิลปกรรมที่เมืองสรรค์ มีลักษณะและรูปแบบที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองพบที่เมืองสรรค์ เป็นแบบศิลปะที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเล็กน้อยมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น |
ส่วนเมืองชัยนาทที่เจ้าสามพระยาได้มาครองนั้น อยู่ที่ฟากตะวันตกของแม่น้ำน่านในจังหวัดพิษณุโลก ไม่ใช่เมืองชัยนาทในเขตจังหวัดชัยนาทปัจจุบัน เมืองชัยนาทที่จังหวัดชัยนาทนี้คงเกิดขึ้นและเรียกชื่อเช่นนี้ ภายหลังจากที่ได้มีการรวมเมืองชัยนาททางฟากตะวันตกของแม่น้ำน่าน เข้ากับเมืองสรลวงสองแควฝั่งตรงกันข้าม เรียกชื่อใหม่เป็นเมืองพิษณุโลกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว โดยเมืองชัยนาทที่จังหวัดชัยนาทนี้ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำน้อยริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก มีวัดพระบรมมหาธาตุวรวิหารเป็นศูนย์กลางการปกครองท้องที่แห่งใหม่ |
ภายหลังจึงได้มีการย้ายเมืองชัยนาทมาตั้งใหม่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดชัยนาทในปัจจุบัน |