อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
|
|
เป็นอาคารศูนย์รวมส่วนบริการต่างๆ ได้แก่ จุดประชาสัมพันธ์และจำหน่ายบัตรเข้าชม ห้องประชุม และห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน
|
อาคารกัลยาณิวัฒนา
|
|
เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหลัก ประกอบไปด้วยส่วนจัดแสดงย่อยจำนวน 9 ส่วน
|
ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ
|
ส่วนจัดแสดงที่ 1
|
|
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับบ้านเชียง ส่วนจัดแสดงนี้บอกเล่าถึงการเสด็จประพาสในปี พุทธศักราช 2515 ซึ่งนำพาความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ในการศึกษาและการพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และแหล่งอื่นๆ ในประเทศไทย พระราชปุจฉาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสถามเมื่อคราวเสด็จนั้นถูกนำมาจัดแสดงในส่วนนี้เพื่อเกริ่นนำถึงขั้นตอนการศึกษาทางด้านโบราณคดีเบื้องต้น
|
ส่วนจัดแสดงที่ 2
|
|
การดำเนินงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง นำเสนอลำดับเวลาการศึกษาทางด้านโบราณคดีในบ้านเชียง โดยเน้นเหตุการณ์สำคัญ รวมถึงบุคลากรที่มีส่วนสำคัญทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
|
ส่วนจัดแสดงที่ 3
|
|
การปฏิบัติงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง แสดงถึงขั้นตอนการทำงานและการศึกษาระหว่างการขุดค้นโดยนักโบราณคดีระหว่างปี พุทธศักราช 2517 - 2518 เช่น การแบ่งประเภทและวิเคราะห์โบราณวัตถุที่พบ รวมถึงวีดีทัศน์บทสัมภาษณ์ชาวบ้านในท้องถิ่น
|
ส่วนจัดแสดงที่ 4
|
|
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ฉากและบรรยากาศจำลองแสดงสภาพหลุมขุดค้นระหว่างปี พุทธศักราช 2517 - 2518 โดยผู้เข้าชมสามารถเยี่ยมชมและสังเกตขั้นตอนการทำงานภายในหลุมขุดค้นจำลองอย่างใกล้ชิด
|
ส่วนจัดแสดงที่ 5
|
|
โบราณวัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีในโบราณวัตถุที่ถูกพบในหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในถูกนำมาจัดแสดงในส่วนจัดแสดงนี้ โดยแบ่งออกตามสมัยของวัฒนธรรมบ้านเชียง ทั้ง 3 สมัย เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และเครื่องประดับจากวัสดุธรรมชาติ แก้ว หิน และโลหะ
|
ส่วนจัดแสดงที่ 6
|
|
วัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงฉากจำลองและโบราณวัตถุเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียง โดยจำลองบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในช่วงสมัยดังกล่าว
|
ส่วนจัดแสดงที่ 7
|
|
การค้นพบยุคสำริดที่หายสาบสูญ นิทรรศการนี้ถูกดัดแปลงมาจากนิทรรศการที่ถูกจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเพื่อการจัดแสดงในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสิงคโปร์ โดยมีอธิบายการศึกษาทางโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปโดยสังเขปจนถึงการค้นพบวัฒนธรรมในยุคสำริดที่แหล่งบ้านเชียง
|
ส่วนจัดแสดงที่ 8
|
|
มรดกโลก จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับเลือกเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พุทธศักราช 2535 ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อที่ 3 "เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว"
|
ส่วนจัดแสดงที่ 9
|
|
การกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียง จัดแสดงโบราณวัตถุที่ถูกพบระหว่างการสำรวจจากแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกับพื้นที่แหล่งบ้านเชียงตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2515 เพื่อศึกษาการกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียงในบริเวณแอ่งสกลนคร ปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมบ้านเชียงจำนวน 127 แหล่งกระจายตามลุ่มน้ำสำคัญในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และหนองคาย
|
อาคารนิทรรศการไทพวน
|
|
จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาวไทพวนซึ่งเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในปัจจุบัน เดิมเป็นบ้านของคุณพจน์ มนตรีพิทักษ์ ซึ่งอนุญาตให้กรมศิลปากรทำการขุดค้นฯ ในปี พุทธศักราช 2515 หลังจากการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ คุณพจน์ผู้เป็นเจ้าของจึงบริจาคบ้านหลังนี้รวมถึงที่ดินให้กับกรมศิลปากรเพื่อสงวนรักษา เป็นอนุสรณ์สถานการเสด็จประพาสครั้งนั้น ได้รับพระราชทานรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พุทธศักราช 2550 โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
|
หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน
|
|
ตั้งอยู่ในวัดโพธิ์ศรีในห่างออกไปจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงทางทิศตะวันออกราว 500 เมตร หลังจากการเสด็จประพาสวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2515 กรมศิลปากรได้ปรับปรุงหลุมขุดค้นภายในวัดโพธิ์ศรีในเพื่อจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของประเทศ |
|