พระพักตร์พระพุทธรูปสำริด (1)

head m09icon360icon zoom

ชื่อโบราณวัตถุ :
พระพักตร์พระพุทธรูปสำริด
แบบศิลปะ :
ล้านนา
ชนิด : 
สำริด
ขนาด :
สูง  22 เซนติเมตร  กว้าง  15 เซนติเมตร
อายุสมัย :
พุทธศตวรรษที่ 20 - 21
ลักษณะ :
เศียรพระพุทธรูปแสดงพระพักตร์กลม พระขนงเป็นวงโค้ง พระเนตรนูนรูปกลีบบัวเหลือบลงต่ำ ปลายเรียวตวัดขึ้น พระนาสิกแคบแต่โด่งเป็นสัน พระโอษฐ์เล็ก ริมพระโอษฐ์ล่างอิ่มหนา ส่วนริมพระโอษฐ์บนเล็กบาง พระเกศาเป็นขมวดใหญ่เรียงกันเป็นระเบียบและโค้งลงเล็กน้อยเหนือพระนลาฏ พระเกตุมาลาหักหายไปสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลีบดอกบัวตูม พระหนุเป็นปม พระศอเป็นปล้อง ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปล้านนาที่สมบูรณ์แบบอย่างเต็มที่ อันเป็นรูปแบบสืบเนื่องมาจากพระพุทธรูปกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียจากปาละ จึงน่าจะอยู่ในช่วงหลังจากล้านนาตอนต้นเล็กน้อย กล่าวคือระหว่างสมัยพระญาแสนภูถึงพระญากือนา เนื่องจากเป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากพระพุทธรูปส่วนใหญ่ที่สร้างในสมัยพระญาติโลกราช เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานนี้อาจเชื่อมโยงได้กับข้อความในตำนานมูลศาสนา ที่กล่าวถึงพระญาแสนภูพระโอรสของพระเจ้าไชยสงคราม ก่อนที่จะครองราชย์ที่เมืองเชียงแสน ได้เสด็จมาประทับที่หริภุญไชยประมาณ 2 - 3 ปี และได้ทรงหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้นสององค์เพื่ออุทิศถวายให้แด่พระนางจามเทวีปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญไชย จึงอาจเป็นไปได้ว่าเศียรพระพุทธรูปองค์นี้เป็นผลงานชิ้นดังกล่าว เนื่องจากพระพักตร์มีความอ่อนหวานและมีจริตที่สะท้อนถึงอิตถีเพศ
คุณค่าที่เสนอให้เป็นโบราณวัตถุของชาติ เป็นเศียรพระพุทธรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ตอนปลายถึง 20 ตอนต้น เพียงไม่กี่ชิ้นที่ยังคงเหลืออยู่ ทั้งยังมีความงดงามอ่อนหวานอย่างยิ่ง
สภาพ :
...
ประวัติ :
ย้ายมาจากวัดพระธาตุหริภุญชัย
สถานที่จัดแสดง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน
คิวอาร์โค้ด สำหรับเข้าถึงระบบฐานข้อมูล :
QR05
(ท่านสามารถโหลดและนำไปใช้เพื่อการทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่อได้)

 hariphunchai model 2017 09icon360 2

hariphunchai zoom 2017 09
icon zoom 2